ผอ.อุทยานปวศ.เผย โดน ‘มรภ.อยุธยา’ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย หลังสั่งรื้อตึกคร่อมคลองโบราณ

สืบเนื่องกรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนครศรีอยุธยาสร้างตึกคร่อมคลองเทพหมี ใกล้บ้านพระเพทราชา โดยกรมศิลปากรสั่งระงับและรื้อถอนตั้งแต่ พ.ศ.2560 และที่ประชุมมรดกโลกได้ติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นักประวัติศาสตร์ชื่อดังหลายรายแสดงความเป็นห่วงถึงเส้นทางน้ำในอดีตซึ่งหลงเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ โดยคลองดังกล่าวปรากฏในคำให้การขุนหลวงประดู่วัดทรงธรรม และมีสะพานอิฐทีได้รับอิทธิพลเปอร์เซีย เรียกชื่อในปัจจุบันว่าสะพานเทพหมี (อ่านข่าว สร้างตึกคร่อมคลองโบราณใกล้บ้านพระเพทราชา กรมศิลป์สั่งระงับ-จี้รื้อ 2 ปีไม่คืบ (คลิป))

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม นางสาวสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นราว 2 ปีมาแล้ว โดยกรมศิลปากรได้มีคำสั่งระงับการก่อสร้างและสั่งรื้อถอนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2560 แต่ในกระบวนการยังยืดเยื้อมาถึงวันนี้ ซึ่งทางยูเนสโกก็ติดตามเรื่องดังกล่าว ทางกรมศิลปากรได้รายงานไปตามข้อเท็จจริงเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2561 ว่ามีคำสั่งรื้อถอนแล้ว อย่างไรก็ตาม ทางมรภ.พระนครศรีอยุธยามีการอุทธรณ์ ซึ่งก็มีการตอบอุทธรณ์แล้วเช่นกันว่าให้ยืนตามคำสั่งเดิม และเมื่อมีการไม่รื้อถอนภายใน 60 วัน กรมศิลปากรจึงแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งทางมรภ.พระนครศรีอยุธยาก็ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรมศิลปากร ส่วนความคืบหน้าล่าสุดในช่วงนี้ก็ยังอยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย

“ทางกรมศิลปากรดำเนินการไปตามขั้นตอน โดยประเด็นที่ผิด ได้แก่ มาตรา 7 ทวิ คือการก่อสร้างใดๆในพื้นที่โบราณสถานต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากอธิบดีกรมศิลปากรเสียก่อน แต่ในระหว่างนั้นกลับมีการดำเนินการก่อสร้างและปรับแบบ แม้มีการพูดคุยกันแต่ในท้ายที่สุดแล้วเมื่อเป็นประเด็นขึ้นมาในแง่ที่ว่ามีการเข้ามาตรวจติดตามของคณะกรรมการมรดกโลก จึงต้องดำเนินการไปตามกระบวนการ เนื่องจากมรภ.พระนครศรีอยุธยาดำเนินการไปก่อนที่จะได้รับอนุญาต เมื่อไม่รื้อถอนภายใน 60 วัน โดยมีอุทธรณ์ และเมื่อการอุทธรณ์ไม่เป็นผล ก็ต้องดำเนินการต่อไปคือแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งทางมรภ.พระนครศรีอยุธยาก็ฟ้องกลับเรียกค่าเสียหาย สำหรับทิศทางการต่อสู้ของกรมศิลปากรในทางกฎหมาย คือการไม่ได้รับอนุญาตในการปลูกสร้าง แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะจบแบบไหน มีกำหนดรื้อถอนเมื่อไหร่” นางสาวสุกัญญากล่าว

Advertisement

เมื่อสอบถามว่า หากคดีดังกล่าวยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อมรดกโลกอยุธยาหรือไม่ นางสาวสุกัญญากล่าวว่า ยูเนสโกติดตามในประเด็นที่ว่าทางหน่วยงานของไทยมีกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ในการควบคุมสิ่งปลูกสร้างใหม่ในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ชี้แจงไปแล้ว ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็อยู่ในการบริหารจัดการภายในประเทศ ไม่ได้หมายความว่า ถ้าไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่งนั้น ยูเนสโกจะกดดันเพื่อทำให้อยุธยาหลุดจากการเป็นมรดกโลก

“สิ่งที่เราทำลงไปคือการใช้กฎหมาย นี่คือเจตนารมณ์ที่จะชี้แจงมรดกโลกว่า เรามีระบียบ มีข้อกฎหมายในการควบคุมสิ่งปลูกสร่าง ซึ่งเราได้ปฏิบัติไปแล้ว ส่วนยูเนสโกจะมากดดันให้หลุดจากมรดกโลกถ้าไม่รื้ออาคาร คงไม่ถึงขั้นนั้น เพราะเป็นเรื่องภายใน การทำงานของกรมศิลปากรซึ่งต้องรักษาพื้นที่มรดกโลก มีความพยายามในการจัดระเบียบซึ่งบางครั้งกระทบทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะรายหรือเฉพาะกรณีเท่านั้น อยากให้สังคมตระหนักว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะการบุกรุก รุกล้ำพื้นที่โบราณสถาน” นางสาวสุกัญญากล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวสร้างคร่อมแนวคลองโบราณซึ่งเป็นที่ตั้งของสะพานก่อด้วยอิฐเรียกชื่อว่า สะพานเทพหมี โดยในขณะนี้ยังไม่มีการรื้อถอนตัวอาคารตามคำขอของกรมศิลปากร แต่ไม่มีการดำเนินงานก่อสร้างแล้ว โดยปล่อยทิ้งร้าง ถูกล้อมด้วยรั้วสังกะสี มีวัชพืชขึ้นปกคลุมบางส่วน ความคืบหน้าเกือบแล้วเสร็จทั้งโครงสร้างอาคาร หลังคา และประตูหน้าต่าง แต่ยังไม่มีการฉาบปูนและตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน จุดประสงค์ในการก่อสร้างเพื่อใช้เป็นอาคารเรียนใน 4 สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปกรรมศาสตร์ โดยก่อนหน้านี้กรมศิลปากรเผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน ครั้งที่ 9/2560 วันที่ 4 ตุลาคม 2560 ระบุข้อมูลที่ มรภ.พระนครศรีอยุธยาขอให้กรมศิลปากรทบทวนคำสั่งระงับการก่อสร้างอาคาร มีเนื้อหาโดยสรุปว่า คณะกรรมการวิชาการพิจารณากรณี มรภ.พระนครศรีอยุธยา ก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์คร่อมทับแนวคลองโบราณโดยยังไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร โดยกรมศิลปากรมีหนังสือ ที่ วธ.0401/1029 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ขอให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอน

ต่อมา มรภ.พระนครศรีอยุธยามีหนังสืออุทธรณ์ กรมศิลปากรจึงมอบหมายกลุ่มนิติกร สำนักบริหารกลางพิจารณาตอบข้ออุทธรณ์ดังกล่าว มรภ.พระนครศรีอยุธยาได้เสนอแบบแก้ไขโดยตัดแนวอาคารที่ทับคลองประกอบการพิจารณาคำอุทธรณ์ กระทั่งมีมติที่ประชุมเห็นสมควรยืนยันตามหนังสือ ที่ วธ. 0401/1029 ให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอน จึงไม่มีการพิจารณารูปแบบแก้ไขที่ มรภ.ส่งมา

กระทั่งในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างปลายเดือนมิถุนายน-10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ร้องขอให้ไทยติดตามแผนการดำเนินการตามคำสั่งรื้อถอนอาคาร มรภ.พระนครศรีอยุธยา (อ่านข่าว นัก ปวศ.ชี้ ‘ผิดแต่ต้น’ ราชภัฏอยุธยาสร้างตึกคร่อมคลองโบราณ ชื่นชมกรมศิลป์ไม่ยอมถอย)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image