ศาลสั่งถอนมติตั้ง ‘เลขาฯสกสค.’ ลุ้น ‘ณัฏฐพล’ ล้มกระดานเลือกใหม่

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ศาลปกครองกลางได้นัดตัดสิน กรณีนายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการศธ. ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ฟ้อง ให้เพิกถอนมติคณะกรรมการสกสค. กรณีแต่งตั้งนายณรงค์ แผ้วพลสง ผู้ตรวจราชการศธ. เป็นเลขาธิการ สกสค. และเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งนายณรงค์ เป็นเลขาธิการสกสค. ทั้งนี้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการ สกสค. และเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งนายณรงค์ โดยในประเด็น ดังนี้ กรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อดีตรักษาการรัฐมนตรีว่าการศธ. มอบให้นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดศธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการสกสค. แทน และกรณีที่นายการุณ มอบอำนาจให้ตน เข้าประชุมแทนในตำแหน่งปลัดศธ. ถือว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลพิจารณาแล้วว่า คณะกรรมการชุดนี้ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ดังนั้น การมอบอำนาจให้เข้าร่วมประชุมแทน จึงถือชอบด้วยกฎหมาย และตนสามารถลงคะแนนเสียงเลือกเลขาธิการสกสค.ได้

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า กรณีที่นายอรรถพล ฟ้องว่าตน และนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) มีสภาพร้ายแรง ไม่สามารถลงมติเลือกเลขาธิการสกสค.ได้ เนื่องจากนายอรรถพล เคยเป็นประธานคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงตนกรณีทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต และเป็นประธานสืบข้อเท็จจริง นายบุญรักษ์ กรณี งบจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ฝึกทักษะมัธยมศึกษาตอนต้น ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรณีนี้ศาลมีมติว่าการที่นายอรรถพล เป็นประธานสืบข้อเท็จจริง มีหน้าที่เพียงหาข้อมูล แต่ไม่ได้มีอำนาจในการลงโทษและตัดสิน ที่สำคัญ ทั้ง 2 เรื่องผู้มีอำนาจที่แท้จริงได้ยุติเรื่องแล้ว ศาลจึงเห็นว่า การที่ตน และนายบุญรักษ์ เข้าไปร่วมเป็นกรรมการสกสค. ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้เป็นสภาพร้ายแรง

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ศาลยังวินิจฉัย กรณีที่นายอรรถพล มอบหมายให้ นายวิมล จำนงบุตร รองเลขาธิการสกสค. ทำหน้าที่แทนเลขาธิการสกสค. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายวิมล เป็นผู้ที่นายอรรถพลแต่งตั้งขึ้นมาเป็นรองเลขาธิการสกสค. ศาลเห็นว่า การมอบอำนาจดังกล่าว เป็นสภาพร้ายแรง เพราะเจตนารู้อยู่แล้วว่า นายวิมล ต้องเข้าไปลงคะแนนเสียงเลือกนายอรรถพล แต่ก็ยังมอบหมาย ดังนั้น ศาลจึงมีมติ ให้เพิกถอนมติคณะกรรมการสกสค. ขณะเดียวกัน ศาลยังพิพากษา ให้นายณรงค์ ถือเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติเข้ารับการสรรหา เนื่องจากไม่ได้แนบวุฒิการศึกษาในการสมัครเข้ารับการสรรหา ดังนั้นคำสั่งแต่งตั้งนายณรงค์ เป็น เลขาธิการสกสค. ซึ่งลงนามโดยปลัดศธ. จึงถือว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

“เมื่อศาลมีคำตัดสินมาเช่นนี้ ผมในฐานะที่กำกับดูแลการบริหารงานบุคคล ขอให้เป็นอุทาหรณ์ ว่า การที่ผู้มีอำนาจ มอบอำนาจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปเลือกตัวเอง ถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ให้เป็นกรณีตัวอย่าง ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทั่วประเทศ ควรจะพึงระวัง ในการมอบอำนาจบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้เข้าประชุมแทน เพราะศาลตัดสินแล้วว่า เป็นสภาพร้ายแรง ไม่สามารถทำหน้าที่แทนได้ ไม่ควรปฏิบัติ” นายประเสริฐกล่าว และว่า จากนี้จะรายงานให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการศธ. รับทราบ ส่วนจะดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายณัฏฐพล

Advertisement

รองปลัดศธ. กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการสรรหาองค์การค้า(อค.)ของสกสค.นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการศธ. เช่นกัน ทั้งนี้หากรัฐมนตรีว่าการศธ. มีคำสั่งให้เริ่มต้นกระบวนการสรรหาเลขาธิการสกสค. ทั้งนายอรรถพล และนายณรงค์ ก็ถือว่ามีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหา

นายอรรถพล กล่าวว่า กำลังรวบรวมเอกสาร ให้ทีมกฎหมายพิจารณา เพราะมีบางประเด็นต้องอุทธรณ์ต่อศาลสูง ในประเด็นที่เราไม่เห็นพ้องด้วย เช่นเรื่องการมอบอำนาจ ซึ่งต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง รวมถึงมอบฝ่ายกฎหมายดูในส่วนคดีอาญา จะเข้าข่ายฟ้องในส่วนใดบ้าง ส่วนกรณีที่ตนมอบอำนาจให้นายวิมล เข้าประชุมแทนนั้น เมื่อศาลตัดสินแล้ว ต้องว่าตามนั้น แต่ยืนยันว่าการมอบนายวิมล ร่วมประชุมแทน เป็นไปโดยสุจริตใจ เข้าใจว่ามีอิสระจากกัน เพราะแม้ว่านายวิมลจะรู้ว่าตนเข้ารับการสรรหา แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ได้รับการคัดเลือก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image