‘สพท.’ ส่งหนังสือย้ำ ‘สพท.-ร.ร.’ ดูแลน้ำหนักกระเป๋านักเรียนห้ามหนักเกิน 15% ของน้ำหนักตัว

‘สพท.’ ส่งหนังสือย้ำ ‘สพท.-ร.ร.’ ดูแลน้ำหนักกระเป๋านักเรียนห้ามหนักเกิน 15% ของน้ำหนักตัว

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกรณี แม่ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในจังหวัดขอนแก่น มีอาการป่วยกระดูกสันหลังคดงอ โดยเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการต้องสะพายกระเป๋าหนังสือที่มีน้ำหนักมากไปโรงเรียนทุกวันนั้น ว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เน้นย้ำ และกำชับไปยัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ ให้ความสำคัญในการดูแลนักเรียนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ร่างกาย จิตใจอยู่ตลอดเวลา และในวันนี้ ตนจะส่งหนังสือเน้นย้ำ แจ้งมาตรการเกี่ยวกับการช่วยเหลือ และดูแลความปลอดภัยให้กับนักเรียน ไปยัง สพท. และโรงเรียนทั่วประเทศอีกครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องของจัดกระเป๋าของนักเรียนว่า นักเรียนได้แบบน้ำหนักมากเกินไปหรือไม่ ขอให้โรงเรียน และครู ให้ดูแลจุดนี้ด้วย

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เกณฑ์น้ำหนักของกระเป๋าสะพายนักเรียนทั่วโลกนั้น จะใช้สัดส่วนเฉลี่ย 10-20% ต่อน้ำหนักตัวของนักเรียน ในส่วนของประเทศไทยใช้เกณฑ์น้ำหนักกระเป๋าเฉลี่ย 15% ต่อน้ำหนักตัวของนักเรียน หากพิจารณาเป็นระดับชั้น จะพบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1-2 จะต้องมีน้ำหนักกระเป๋าสะพาย ไม่เกิน 3 กิโลกรัม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-4 น้ำหนักกระเป๋าจะไม่เกิน 3.5 กิโลกรัม นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5-6 น้ำหนักกระเป๋าจะไม่เกิน 4 กิโลกรัม และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา น้ำหนักกระเป๋าเฉลี่ยแล้วไม่ควรเกิน 15% ของน้ำหนักนักเรียน

“สพฐ. จะกำชับให้ สพท.และทุกโรงเรียน ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานที่ สพฐ.กำหนดไว้ พร้อมทั้งกวดขันนักเรียนเป็นรายบุคคล เรื่องการจัดกระเป๋า รวมทั้งดูเรื่อวการจัดตารางสอนของนักเรียน ว่าจะทำให้กระเป๋าหนักหรือไม่ เพราะเรื่องเหล่านี้จะส่งผลต่อกระดูก ต่อเส้นประสาทของนักเรียน พร้อมกับสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ดูแลนักเรียนเรื่องการจัดตารางสอนที่บ้าน รวมทั้งโรงเรียนที่มีความพร้อม ควรที่จะจัดทำล็อกเกอร์ เพื่อให้นักเรียนใส่หนังสือด้วย ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นกับนักเรียนชั้น ม.3 ในโรงเรียนที่จังหวัดขอนแก่นนั้น ผมได้กำชับเขตพื้นที่ฯ และโรงเรียนลงไปดูติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำชับให้ทุกแท่ง ในเรื่องของการทำงานว่าทุกคนต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม ดังนั้นครูทุกคนจะต้องช่วยกันสอดส่องดูแลนักเรียนในประเด็นดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น” นายสุเทพ

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.แนะนำให้ใช้อิเล็กทรอนิกส์บุ๊ค (อีบุ๊ค) มากขึ้น เพื่อให้เด็กไม่ต้องแบกหนังสือไปโรงเรียนนั้น สพฐ.คงจะต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม แต่เชื่อว่าในอนาคตการใช้อีบุ๊คจะมีเพิ่มมากขึ้น แต่หนังสืออาจจะไม่หมดไป เพราะบางวิชายังจำเป็นต้องใช้ หรือมีแบบฝึกหัดที่ต้องใช้เป็นหนังสือ เพื่อให้นักเรียนเขียนแบบคำตอบในแบบฝึกอยู่

Advertisement

ด้านคุณหญิงกัลยา กล่าวว่า เรื่องการเสนอให้ใช้อีบุ๊ค เข้ามาแทนหนังสือเรียนนั้น มีการแจ้งให้ทราบในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถึงแนวทางนี้ ซึ่งตนมองว่าสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการศึกษา เชื่อว่าการใช้อีบุ๊คนั้นจะช่วยนักเรียนอย่างมาก ในเรื่องของสุขภาพ ลดการแบกหนังสือเรื่องที่มีน้ำหนักมากไปโรงเรียน อย่างไรก็ตามแนวทางนี้จะต้องใช้เวลาในการพัฒนา

“ส่วนคำถามว่านักเรียนในพื้นที่ห่างไกล จะสามารถใช้อีบุ๊คได้หรือไม่ เบื้องต้นจากการสำรวจพบว่านักเรียนในพื้นที่ห่างไกล มีสัดส่วนในการใช้สมาร์ทโฟนอยู่ในระดับหนึ่ง เชื่อว่าการเรียนการสอนด้วยอีบุ๊ค หรือด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เช่นการเรียนผ่านหลักสูตรออนไลน์ กับครูที่มีความรู้ความสามารถ จะช่วยให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ อย่างไรก็ตามอยากให้ครูประจำโรงเรียน เป็นครูพี่เลี้ยงช่วยสอนนักเรียนเพิ่มเติมด้วย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” คุณหญิงกัลยา กล่าว

นายณัฏฐพล กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวตนทราบว่าผู้ปกครองนั้นพานักเรียนไปหาแพทย์ที่ไม่ใช่หมอเฉพาะทาง แต่กลับพบกระดูกของลูกนั้นคดงอ จึงตั้งข้อสังเกตุว่าการสะพายกระเป๋านักเรียนที่มีน้ำหนักมากเป็นสาเหตุหลัก ซึ่งภายในสัปดาห์นี้ผู้ปกครองจะพานักเรียนไปตรวจกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุที่แน่นอนอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากพบว่าเรื่องนี้ตรงกับสมมุติฐานที่ผู้ปกครองตั้งไว้ ต้องมาหารือและตรวจสอบว่าการเกิดเหตุลักษณะนี้ เป็นเฉพาะบุคคลหรือไม่ หรือส่งผลกระทบกับนักเรียนทุกคน ตนเชื่อว่าทุกโรงเรียนสามารถบริหารจัดการ ดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคลได้ เช่น หากพบกระเป๋าหนักเกิน ให้นักเรียนตรวจสอบจัดกระเป๋าให้ดี เป็นต้น

Advertisement

“อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถือเป็นเรื่องที่ ศธ.ต้องพิจารณาสื่อการเรียนการสอน ที่ต้องมีปริมาณหนังสือที่เหมาะสม รวมถึงวินัยของนักเรียนในการแบ่งหนังสือเรียน เวลาเรียนที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามเรื่องนี้แม้จะเป็นเรื่องที่เล็กน้อย แต่คุณภาพการศึกษาของนักเรียนต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก เพราะทุกปัญหาจะผูกโยงไปยังการพัฒนาการศึกษาที่รัฐบาลกำลังพัฒนาอยู่ ส่วนที่คุณหญิงกัลยา เสนอให้ใช้อีบุ๊ค แทนหนังสือเรียนนั้น เป็นแนวทางที่ดีหลายประเทศใช้กันแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยนั้นต้องดูถึงการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับจำนวนนักเรียนที่มีด้วย และต้องมีกรอบระยะเวลาด้วย”นายณัฏฐพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image