กพฐ.ตั้งเป้ารวม 2.9 พัน ร.ร.เล็ก เน้น น.ร.ต่ำ 40 คน ชี้ ผอ.ค้านเหตุกลัว ‘เงินตำแหน่ง-วิทยฐานะ’ หาย

กรณีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เสนอนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา โดยข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2561 พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน จำนวน 2,845 โรง นักเรียนต่ำกว่า 120 คน จำนวน 14,796 โรง โรงเรียนพื้นที่สูง 1,190 โรงเรียน และโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เกาะแก่ง หรือห่างไกล 123 โรง ซึ่งนักวิชาการไม่เห็นด้วย และมองว่าปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กเกิดจากระบบการบริหารราชการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กพฐ.ได้นัดประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศเพื่อมอบนโยบายบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้แต่ละ สพท.จัดทำแผนการแก้ปัญหาเป็นรายจังหวัด และเสนอให้ สพฐ.ภายในวันที่ 30 สิงหาคมนั้น

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ.เปิดเผยว่า หลังมีการนำเสนอข่าวว่าจะมีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น เบื้องต้นทางกลุ่มโรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียน ยังไม่ได้สะท้อน หรืออกความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวมาที่ตนโดยเฉพาะ เพราะเรื่องนี้มีการพูดถึงกันเป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว เชื่อว่ากระแสการต้านเรื่องนี้จะลดน้อยลง โดยได้หารือนายณัฏฐพลถึงการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว ซึ่งนายณัฏฐพลย้ำว่าการศึกษาต้องมีคุณภาพ และต้องมีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ

รศ.ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า เชื่อว่าการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจะทำให้นักเรียนมีคุณภาพมากกว่าเดิม และเกณฑ์การควบรวมจะมีอยู่หลายเกณฑ์ ไม่ใช่นำเกณฑ์เดียวเข้ามาใช้ในการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ เช่น ต้องสำรวจโรงเรียนขนาดเล็กใดที่มีความจำเป็น ให้คงอยู่โดยไม่ต้องควบรวม เช่น โรงเรียนในพื้นที่เกาะแก่ง หรือในพื้นที่สูง เป็นต้น

“กลุ่มโรงเรียนที่เป็นเป้าหมายในการควบรวม คือโรงเรียนขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ใกล้กัน แต่ไม่ยอมควบรวมกัน ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด 18,000 โรง โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน ที่มีอยู่ 2,845 โรงก่อน ซึ่งการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องมีเป้าหมายร่วมกันคือ ครูต้องครบทุกระดับชั้น สื่อการเรียนการสอน และอาคารสถานที่ ต้องพร้อมด้วย” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว

Advertisement

รศ.ดร.เอกชัยกล่าวอีกว่า เบื้องต้นที่ประชุม กพฐ.ได้หารือในประเด็นดังกล่าว และขอให้ สพท.ทุกเขตที่มีข้อมูลของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ตนเอง ลงไปสำรวจตรวจสอบโรงเรียนแม่เหล็กว่ามีความพร้อมที่จะควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กหรือไม่ หากมีความพร้อม ก็จะเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือให้มีคุณภาพมากขึ้น แต่หากโรงเรียนแม่เหล็กไม่มีความพร้อม ให้สำรวจโรงเรียนลูก ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ใกล้เคียงกันว่ามีความพร้อมเรื่องอาคารสถานที่หรือไม่ หากมีความพร้อมมากกว่า ขอให้พัฒนาโรงเรียนแห่งนั้นขึ้นเป็นโรงเรียนแม่เหล็กต่อไป

“อย่างไรก็ตาม การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องค่อยเป็นค่อยไป และต้องใช้เวลากว่าจะสำเร็จ โดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ส่วนกลุ่มคนที่ออกมาค้าน ไม่อยากให้ควบรวม เพราะโรงเรียนเป็นความทรงจำของชุมชนนั้น ขออย่ายึดติดกับประวัติศาสตร์มากเกินไป จนคุณภาพของนักเรียนไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งเรื่องนี้แก้ไขปัญหาได้ เราไม่ได้ทอดทิ้งประวัติศาสตร์ของชุมชน โดยจะนำประวัติของโรงเรียนที่ถูกควบรวมมาไว้ในโรงเรียนแห่งใหม่ เพื่อให้ผู้ปกครอง นักเรียนรู้สึกว่าโรงเรียนเดิมของตัวเองไม่ถูกลืม” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว

รศ.ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีคนกังวลว่าเมื่อควบรวมโรงเรียนแล้ว ครู และนักเรียนจะเดินทางลำบากนั้น สพฐ.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาจร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือค่าเดินทาง ทั้งนี้ การควบรวมจะต้องคำนวณรัศมีในการเดินทางด้วย โดยจะต้องไม่เกินครึ่งชั่วโมง รวมทั้ง การต่อต้านนั้น อาจจะมาจากผู้อำนวยการโรงเรียน ที่กลัวตำแหน่งหาย เพราะกลัวว่าหากถูกย้ายให้ไปปฏิบัติงานใน สพท.แล้ว เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินวิทยฐานะจะหายไป ประเด็นนี้ สพฐ.คงต้องหาวิธีแก้ปัญหา เชื่อว่าจะหาทางออกเรื่องนี้ได้ โดยขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาของนักเรียนมากกว่าสถานภาพของตนเอง

Advertisement

น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า เห็นด้วยกับการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะปัจจุบันจำนวนเด็กเกิดน้อยลง แต่จำนวนโรงเรียนยังเท่าเดิม โดยการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ควรจะควบรวมโรงเรียนที่อยู่ใกล้กันในรัศมี 2-3 กิโลเมตร ไม่ควรยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่สูง และในเกาะแก่ง

น.ท.สุมิตรกล่าวต่อว่า การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กต้องคำนึงถึงนักเรียน และผู้ปกครอง ให้เดินทางได้สะดวก จะต้องไม่กระทบกับตำแหน่ง หรือวิทยฐานะของครู และผู้อำนวยการโรงเรียน รวมทั้ง ต้องคืนทรัพยากรทางการศึกษาให้กับโรงเรียนขนาดเล็กที่ควบรวมด้วย โดยใน 1 โรงเรียน จะต้องมีครูผู้สอน ครูธุรการ แม่บ้าน และบุคลากรอื่นๆ รวมกัน 9 คน ต่อ 1 โรงเรียน และทรัพยากรทั้งหมดนั้น ส่วนกลางจะต้องช่วยอุดหนุนเช่นเดิม รวมทั้ง กำหนดอัตรานักเรียนต่อห้องเรียนไม่ให้มีมากเกินไปด้วย โดยอาจกำหนดให้มีอัตรา 30 คนต่อห้องเรียน

“เมื่อยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว ผมมีข้อเสนอในการรักษาโรงเรียนขนาดเล็กให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป โดยมี 2 ทางด้วยกันคือ ให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้ามาดูแล และสร้างเป็นโรงเรียนพัฒนาผู้สูงอายุ รวมถึง พัฒนาบุคคลากรในชุมชน หรือให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้าไปดูแลทำประโยชน์ให้กับชุมชน โดยเปิดสอนอาชีพให้กับคนในชุมชน” น.ท.สุมิตร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image