‘ณัฏฐพล’ รอข้อสรุปจากสพฐ.ถกผอ.สพท. 7 ส.ค. ชี้ยุบรวมร.ร.เล็ก ต้องค่อยเป็นค่อยไป

กรณีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เสนอนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา โดยข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2561 พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน มีจำนวน 2,845 โรง, นักเรียนต่ำกว่า 120 คน มีจำนวน 14,796 โรง โรงเรียนพื้นที่สูง 1,190 โรงเรียน และโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เกาะแก่ง หรือห่างไกล 123 โรง ซึ่งมีนักวิชาการสนับสนุนและคัดค้าน ขณะที่นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กพฐ. ได้นัดประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เพื่อมอบนโยบายบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้แต่ละเขตพื้นที่ฯ จัดทำแผนการแก้ปัญหาเป็นรายจังหวัด และรายอำเภอ และให้เสนอข้อมูลแก่ สพฐ.ภายในวันที่ 30 สิงหาคมนั้น

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า วันที่ 7 สิงหาคมนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะมอบนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ทั่วประเทศ ซึ่งหัวใจหลักที่เป็นนโยบายคือ ต้องการประสิทธิภาพ ทั้งคุณภาพการจัดการศึกษา คุณภาพครูและคุณภาพโรงเรียน ฉะนั้นต้องรอดูข้อมูลจากทางเขตพื้นที่ฯ อีกครั้ง เพื่อดำเนินการ คิดว่าจะสามารถตัดสินใจอะไรได้ง่ายขึ้น โดยการควบรวมจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่สำคัญจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน

นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)นครราชสีมา กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่ต้องแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้การจัดการศึกษามีคุณภาพ แต่การดำเนินการจะต้องมีความยืดหยุ่นโดยดูความเหมาะสมและความ จำเป็นตามบริบทของพื้นที่ เช่น โรงเรียนห่างไกล บนภูเขาสูง เกาะแก่ง ซึ่งจำเป็นต้องคงไว้ ก็ควรให้อยู่กับชุมชน โรงเรียนใดพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่สามารถบริหารให้เกิดการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้ จำเป็นต้องยุบก็ควรยุบ ขณะที่โรงเรียนใดพิจารณาแล้ว สามารถควบรวมกับโรงเรียนใกล้เคียงหรือโรงเรียนแม่เหล็กได้ ก็ควรรวม แต่จะต้องดูในเรื่องของการบริหาร ระบบขนส่งทั้งครูและนักเรียน ให้เกิดประสิทธิภาพ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใดจะต้องสนับสนุนงบให้เพียงพอต่อการจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ

“การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก สามารถทำได้หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องยึดการควบรวม หรือยุบเลิกเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องพิจารณาบริบทของพื้นที่เป็นสำคัญ อย่างเช่น โรงเรียนที่จำเป็นต้องยุบ ก็ควรยุบ โรงเรียนที่ควรคงไว้ให้อยู่กับชุมชน ก็ควรให้การสนับสนุนงบให้เพียงพอต่อการจัดการศึกษา เพราะทุกวันนี้ สพฐ.จัดงบแบบเบี้ยหัวแตก ทำให้การจัดการศึกษาไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร” นายอดิศรกล่าว

Advertisement

นายบุญเลิศ พ่วงเพ็ชร ผู้อำนวยการโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า การควบรวมหรือยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กอาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด และอาจเป็นการสร้างปัญหาให้มากขึ้น ทั้งนี้การยุบรวมหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จะมีข้อดีในเรื่องการบริหารจัดการ แต่อาจเกิดปัญหากับชุมชน ซึ่งมีความผูกพันกับการจัดตั้งโรงเรียน ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือ สนับสนุนส่งเสริมให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ทำให้โรงเรียนเข้มแข็ง ลดภาระงานให้ครูมีเวลาพัฒนาการสอนได้อย่างเต็มที่ การลงทุนทางการศึกษาจะมองแต่ปริมาณ หรือการลดจำนวน คงไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image