‘สุเทพ’ จี้ ‘บิ๊ก สพท.’ บริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เร่งสำรวจข้อมูลส่ง 15 ส.ค.

‘สุเทพ’ จี้ ‘บิ๊ก สพท.’ บริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เร่งสำรวจข้อมูลส่ง 15 ส.ค.นี้ ด้าน ‘ผอ.สพป.ลำปาง เขต 1’ แนะควรกำหนดเป็นนโยบายชัดเจน

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดภายหลังเป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อมอบนโยบายในการปฏิบัติหน้าที่แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และครูทั่วประเทศ ว่า ตนได้มอบนโยบายและติดตามการดำเนินงานในประเด็นหลัก คือ การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ขณะนี้มีจำนวน 15,158 โรงเรียน คิดเป็น 50.74% ของโรงเรียนทั้งหมดทั่วประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสพฐ.ได้มอบยุทธศาสตร์พัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก ปีงบประมาณ 2562-2565 จำนวน 5 ยุทธศาสตร์ ให้ สพท.ไปดำเนินการคือ คือ 1.จัดการศึกษาเพื่อความมั่นคง 2.สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 3.พัฒนาคุณภาพผู้เรียน 4.พัฒนาผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา และ 5.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม โดยสพฐ.ได้ให้แนวทางการดำเนินการ กับ สพท.และโรงเรียนในการรวบรวมข้อมูลและทำความเข้าใจกับพื้นที่

นายสุเทพ กล่าวว่า หากโรงเรียนดำเนินการตามแผนแล้วเสร็จ จะต้องส่งข้อมูลให้ สพท.เพื่อให้ สพท.กรอกข้อมูลการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ภายในวันที่ 15 สิงหาคม และจัดส่งเล่มพร้อมไฟล์แผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก มายังกลุ่มวิจัยและพัฒนานโยบาย สำนักนโยบายและเผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ภายในวันที่ 30 สิงหาคม โดยข้อมูลทั้งหมดที่ได้มา จะถูกรวบรวมเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่ เพื่อเสนอต่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาต่อไป

“การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กถือเป็นวาระแห่งชาติ นายณัฏฐพล ให้นโยบายว่าการดำเนินการทุกอย่างต้องยึดคุณภาพนักเรียนเป็นหลัก ไม่ควรยึดเรื่องยุบโรงเรียน แต่ให้มุ่งคุณภาพเป็นหลัก และต้องจัดการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ดังนั้น สพฐ.จะไม่กำหนดนโนบายว่าต้องยุบเท่าไหร่ แต่จะส่งเสริมให้โรงเรียนมีคุณภาพ ยิ่งมีคุณภาพมากขึ้นโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยจะหายไป และมีผลพลอยได้คือคุณภาพการศึกษาจะเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งขณะนี้ สพฐ.มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก ดังนั้นต้องหาทางแก้ไขและพัฒนา ว่าจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างไร และการบริหารบุคลากรจะต้องพัฒนาอย่างไร โรงเรียนที่มีผู้อำนวยการค้างอยู่ ต้องมีวิธีการดำเนินการจัดการอย่างชัดเจน ดังนั้นวิธีการบริหารจัดการกระบวนการเรียนการสอน กระบวนการนิเทศงาน กระบวนการจัดสรรงบประมาณต้องเปลี่ยนด้วย”นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตนได้มอบนโยบายเรื่องการจัดการโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนขนาดเล็กด้วย โดยโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คนนั้น โรงเรียนได้รับเงินเพียง 800 บาทเท่านั้น หรือบางโรงเรียนได้รับเงินเพียง 120 บาทเพราะมีนักเรียนเพียง 6 คน เป็นต้น  ซึ่งไม่สามารถจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนได้ เพราะฉะนั้น สพฐ.จะต้องเสนอแนวทางใหม่ในการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อเสนอ นายณัฏฐพล พิจารณาแก้ไขปัญหาด้วย

Advertisement

ด้านนายอภิรักษ์ อิ่มจิตอนุสรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ลำปาง เขต 1. กล่าวว่า สำหรับ สพป.ลำปาง เขต 1 นั้น ต้นปี 2562 ถึงปัจจุบันได้ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไป 2 แห่ง และยังมีโรงเรียนอีกประมาณ 15 โรงที่อยู่ระหว่างดำเนินการควบรวมสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน ซึ่งการควบรวมโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คนนั้น ต้องใช้เวลาในการดำเนินการอย่างมาก ทุกอย่างต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า หากสำรวจแล้วพบว่าโรงเรียนใดมีแนวโน้มว่าอีก 5 ปี นักเรียนลดลง ทางสพป. ลำปาง เขต 1 จะลงพื้นที่เข้าไปทำความเข้าใจกับโรงเรียน และชุมชนเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่จะดำเนินการควบรวมโรงเรียน

“การดำเนินการต่างๆ ต้องทำตามระบบ เมื่อเห็นว่าโรงเรียนใดมีนักเรียนน้อย เราจะลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชน ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางของนักเรียนนั้นรัฐเป็นผู้ออกทั้งหมด และข้อดีของการเรียนรวมกันคืออะไร ซึ่งมีบ้างที่ชุมชนไม่เข้าใจ แต่ต้องค่อยๆ สร้างความเข้าใจกับชุมชนไป ผมมองว่าการที่นักเรียนไปเรียนรวมกันสร้างผลดีมากมาย เช่น ได้ลดความขัดแย้งในระหว่างชุมชนด้วยกัน นักเรียนมีมิติทางสังคมที่กว้างขึ้นเพราะรู้จักคนหลากหลาย ช่วยประหยักทรัพยากรในการบริหารจัดการ และนักเรียนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ”

นายอภิรักษ์ กล่าวว่า ตนเห็นพ้องกันวิธีการควบรวมและพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพ แต่พบปัญหาบางอย่างที่ส่งผลให้การควบรวมนั้นล่าช้า เช่น การบริหารจัดการสถาน เมื่อนักเรียนเข้าไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่น จะจัดการโรงเรียนที่ว่างอยู่อย่างไร เช่น หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางดูแล หรือให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้ามาบริหารจัดการ เป็นต้น

Advertisement

“อยากให้การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ออกเป็นนโยบายที่ชัดเจนว่าจำนวนนักเรียนเท่าใด สมควรที่จะดำเนินการควบรวม เพื่อให้การศึกษา การระดมทุน การจัดสรรทรัพยากรมีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งอำนาจการตัดสินอนุมัติควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ควรให้ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ตัดสิน เพราะใช้เวลาในการดำเนินการนานกว่าจะมีการประชุมแต่ละครั้ง ควรให้หน่วยงานอย่าง กศจ.ตัดสินใจและอนุมัติควบรวม เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆเป็นไปอย่างรวดเร็ว” นายอภิรักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image