รมช.กระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้านโยบายด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคนสู่ศตวรรษที่ 21 หนุนเด็กไทยต้องได้เรียนโค้ดดิ้ง (Coding) พร้อมพัฒนาหลักสูตรให้เป็นรูปธรรม ให้ทันโลกดิจิทัลและเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการสอดรับกับนโยบายหลักที่รัฐบาลได้นำเสนอไว้คือ การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย และการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ท่ามกลางพลวัตที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง โดยเป้าหมายอย่างแรกที่ตั้งใจจะผลักดันให้ประสบความสำเร็จคือ การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ หรือโค้ดดิ้ง (Coding) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิตให้เป็นระบบ มีเหตุ มีผล และมุ่งหวังให้เยาวชนไทยใช้ชีวิตก้าวทันโลกในศตวรรษที่ 21
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเรียนรู้โค้ดดิ้ง (Coding) โดยกำหนดไว้ในนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา และกระทรวงศึกษาธิการก็มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการสื่อสารภาษาต่างๆ ของเด็กไทย ทั้งภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ตลอดจนภาษาคอมพิวเตอร์ หรือโค้ดดิ้ง (Coding) ซึ่งเป็นทักษะภาษาใหม่ที่จะใช้สื่อสารกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในอนาคต ทำให้เข้าใจการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และหุ่นยนต์ สอดคล้องกับการเตรียมกำลังคนของประเทศให้มีทักษะเท่าทันโลกยุคดิจิทัล มีอาชีพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
คุณหญิงกัลยากล่าวอีกว่า การสนับสนุนให้เด็กไทยจะต้องพูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่การเรียนภาษามักจะพูดถึงแต่ภาษาอังกฤษ ต่อมาจึงมีโครงการ English for all ที่เคยทดสอบทดลองไปแล้วตั้งแต่ชั้นอนุบาล จึงมองว่า ต้องการให้เด็กไทยได้เรียนเพิ่มอีก 1 ภาษา คือภาษาคอมพิวเตอร์ หรือโค้ดดิ้ง (Coding) นั่นเอง ซึ่งเป็นทักษะใหม่ในยุคนี้และเด็กสามารถที่จะเรียนรู้ได้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เพื่อให้เกิดทักษะที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือที่เราให้คำจำกัดความที่ว่า “Coding for all, all for coding” เนื่องด้วยความมุ่งหวังอยากให้คนไทยทุกคนได้มีทักษะการโค้ดดิ้ง (Coding) ในโลกยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยไหนหรือสาขาอาชีพใด และทุกๆ อย่างในชีวิต หรือเทคโนโลยีรอบตัวล้วนแล้วสัมพันธ์กับการโค้ดดิ้ง (Coding) ทั้งนั้น ฉะนั้น การโค้ดดิ้ง (Coding) ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับทุกคนในการเพิ่มพูนทักษะและจับต้องได้ในยุคนี้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดเพื่อการประชาสัมพันธ์ผ่านสโลแกน “โค้ดดิ้ง ง่ายกว่าที่คิด พิชิตยุคดิจิทัล”
คุณหญิงกัลยากล่าวเพิ่มเติมว่า จะเริ่มนำร่องสอนภาษาโค้ดดิ้ง (Coding) ในเดือนพฤศจิกายนนี้เลย โดยจะมีการอบรมครูในการนำสอนโค้ดดิ้งจำนวน 1,000 คน ในเดือนตุลาคมนี้ พอเปิดเทอมในเดือนพฤศจิกายนก็สามารถสอนได้เลย เพราะครูเหล่านี้มีพื้นฐานอยู่แล้วในการสอนโค้ดดิ้ง ถือเป็นโชคดีของประเทศที่มีครูที่มีพื้นฐานเหล่านี้อยู่จำนวนมาก โดยกระทรวงศึกษาธิการพร้อมที่จะขับเคลื่อนโค้ดดิ้ง (Coding) ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจากสำนักงานส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่สามารถอบรมให้กับครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สมัครใจและมีความพร้อมจะเรียนรู้เรื่อง Coding ซึ่งหากดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้โค้ดดิ้ง (Coding) ของเด็กในพื้นที่ห่างไกลกับเด็กในเมืองได้อีกด้วย
“ในระดับชั้น ป.1-3 จะเป็นการเรียนการสอนที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เรียกว่า Unplugged Coding และถ้ามีพื้นฐานอย่างมีระบบ ต่อไปก็สามารถสื่อสารกับเครื่องได้ในการเรียนระดับต่อไป ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการสอนโค้ดดิ้ง (Coding) เท่านั้น ขณะนี้จะเห็นได้ว่าประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศให้โค้ดดิ้ง (Coding) เป็นนโยบายสำคัญของชาติ รวมทั้งกำหนดให้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศเรียนภาษาโค้ดดิ้ง (Coding) ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับจีนที่ประกาศให้การจัดการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง (Coding) เป็นนโยบายสำคัญของประเทศเช่นกัน”
รมช.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า คำว่าโค้ดดิ้ง (Coding) ไม่ได้พูดถึงเพียงแค่การป้อนชุดคำสั่งเท่านั้น แต่โค้ดดิ้ง (Coding) เป็นสิ่งที่จะทำให้เด็กไทยมีทักษะชีวิตรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ C-Creative Thinking คือความคิดสร้างสรรค์ ที่เราไม่อยากปล่อยให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไทยถูกปิดกั้นจากข้อจำกัดทางการศึกษาด้านเทคโนโลยี โค้ดดิ้ง (Coding) จะเป็นเครื่องมือสำคัญในโลกยุคดิจิทัลที่จะรังสรรค์ไอเดียต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้จริงกับเด็กไทยและคนไทยทุกๆ คน และอยากให้เด็กไทยมี O-Organized Thinking คือการส่งเสริมให้เด็กไทยมีความคิดที่เป็นระบบระเบียบ และมีตรรกะวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน รู้จักคิดที่จะแก้ไขปัญหา ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกยุคดิจิทัล
พร้อมทั้ง D-Digital Literacy ความสามารถในการเข้าใจภาษาดิจิทัลก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในแง่ของการที่จะทำให้เด็กไทยสามารถใช้ชีวิตที่รายล้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้อย่างง่ายดาย และเข้าใจเทคโนโลยีได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นผ่านภาษาคอมพิวเตอร์ ความเข้าใจภาษาดิจิทัลจึงเป็นหนึ่งสิ่งสำคัญที่เป็นเป้าหมายด้านการศึกษาของเด็กไทย ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ความคิดที่เป็นระบบ และความเข้าใจในภาษาดิจิทัล 3 สิ่งนี้ จะส่งเสริมให้เกิด I–Innovation หรือนวัตกรรม ที่จะนำไปใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์แก่คนหมู่มาก
สิ่งเหล่านี้เองจะทำให้ประเทศไทยมีนวัตกรหน้าใหม่ ที่สามารถผลิตนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลกได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นบุคลากรจากสาขาอาชีพไหนก็ตาม แต่นวัตกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีซึ่งความคิดที่สร้างสรรค์ เป็นระบบ และเข้าใจในภาษาดิจิทัล ทั้งนี้ นวัตกรรมจะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ตามนิยามของคำว่า N – Newness คือ การสนับสนุนให้คนไทยมีความคิดริเริ่มในการทำสิ่งต่างๆ อย่างไม่รอช้า การริเริ่มจะทำให้เกิดความสดใหม่ ทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยี ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นแค่ผู้ตาม
แต่เรามุ่งหวังการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ การเรียนรู้โค้ดดิ้ง (Coding) ก็ถือเป็นความสดใหม่ที่ทางเราอยากจะริเริ่มเช่นกัน เพื่อเตรียมคนไทยเข้าสู่ยุคของ G – Globalization หรือยุคโลกาภิวัตน์ที่ทางเราได้ให้นิยามว่าเป็นยุคของศตวรรษที่ 21 นับเป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่อาจเลี่ยงได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการผสานหรือควบรวมวัฒนธรรม
รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านโลกของเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (Technology Disruption) และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ให้ทัดเทียมหรือก้าวไกลไปกว่านานาอารยประเทศ การเรียนโค้ดดิ้ง (Coding) จึงเปรียบเสมือนเป็นฐานความรู้ใหม่ที่จำเป็นสำหรับคนไทยโดยเฉพาะเด็กไทยในยุคดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม การเรียนโค้ดดิ้ง (Coding) จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และไม่ต้องห่วงว่าโค้ดดิ้ง (Coding) จะเป็นสิ่งที่ยากเกินสำหรับเด็กๆ หรือบุคคลทั่วไป เพราะ.. Coding ง่ายกว่าที่คิด พิชิตยุคดิจิทัล ทั้งนี้ ภาษาโค้ดดิ้ง คือการคิดเป็นระบบ คิดแบบมีตรรกะ และมีระบบในการแก้ปัญหา แม้เด็กจะไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักคอมพิวเตอร์ แต่ทุกคนต้องมีการวางแผนการจัดการอย่างเป็นขั้นตอนในการดำเนินชีวิต ซึ่งเราจะนำสิ่งเหล่านี้ไปใส่ในเด็กไทยให้ได้