‘สพฐ.’ วิเคราะห์งบอาหารกลางวัน ชี้ ร.ร.ขนาดเล็กต้องอุดหนุนตามจำนวน น.ร.

‘สพฐ.’ วิเคราะห์งบอาหารกลางวัน ชี้ ร.ร.ขนาดเล็กต้องอุดหนุนตามจำนวน น.ร. เด็ก 200 คนขึ้นไปเพิ่ม 23 บาทต่อหัวต่อคน เตรียมเสนอ รมว.ศธ.พิจารณาสัปดาห์หน้า

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายอาหารกลางวันของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาตามขนาดจำนวนนักเรียน ว่า รัฐบาล และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เน้นย้ำให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แก้ปัญหาเรื่องโครงการอาหารกลางวันให้มีคุณภาพ สพฐ.จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันวิเคราะห์ ค่าใช้จ่ายอาหารกลางวัน พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่กว่า 27,000 แห่ง มีปัญหาในการจัดการอาหารกลางวันมาก ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่จะพบปัญหาน้อย โดยปัจจุบันรัฐบาลอุดหนุนงบ 20 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอต่อสภาพเศรษฐกิจที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ซึ่งจากการคำนวณพบว่าโรงเรียนที่มีนักเรียน 200 คนขึ้นไป ควรจะอุดหนุนงบ เพิ่มขึ้นเป็น 23 บาทต่อคนต่อวัน

นายสุเทพกล่าวว่า ทั้งนี้ จากการคำนวนอัตราเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันที่เหมาะสมต่อจำนวนเด็ก พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กนั้น สมควรที่จะได้รับค่าอาหารที่ไม่เท่ากัน โดยจะต้องยึดจำนวนนักเรียน และขนาดโรงเรียนเป็นหลัก ซึ่งสามารถแบ่งการอุดหนุนงบ ตามโรงเรียนแต่ละขนาด ดังนี้ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 1-20 คน จำนวน 817 แห่ง นักเรียน 9,920 คน เดิมงบประมาณค่าอาหารกลางวัน 20 บาท ต่อคนต่อวันรวม 39,680,000 บาท ควรเพิ่มเป็น 36 บาทต่อคนต่อวัน โรงเรียนที่มีนักเรียน 21-23 คน จำนวน 246 แห่ง นักเรียน 5,395 คน เดิมได้งบ 21,580,000 บาท ควรเพิ่มเป็น 34 บาทต่อคนต่อวัน โรงเรียนที่มีนักเรียน 24-25 คน จำนวน 196 แห่ง นักเรียน 4,795 คน เดิมได้งบ 19,180,000 บาท ควรเพิ่มเป็น 33 บาทต่อคนต่อวัน

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า โรงเรียนที่มีนักเรียน 26-27 คน จำนวน 194 แห่ง นักเรียน 5,150 คน เดิมได้งบ 20,680,000 บาท ควรเพิ่มเป็น 32 บาทต่อคนต่อวัน โรงเรียนที่มีนักเรียน 28-30 คน จำนวน 317 แห่ง นักเรียน 9,178 คน เดิมได้งบ 36,712,000 บาท ควรเพิ่มเป็น 31 บาท ต่อคนต่อวัน โรงเรียนที่มีนักเรียน 31-33 คน จำนวน 355 แห่ง นักเรียน 11,373 คน เดิมได้งบ 45,492,000 บาท ควรเพิ่มเป็น 30 บาท ต่อคนต่อวัน โรงเรียนที่มีนักเรียน 34-37 คน จำนวน 780 แห่ง นักเรียน 18,303 คน เดิมได้งบ 73,212,000 บาท ควรเพิ่มเป็น 29 บาท ต่อคนต่อวัน โรงเรียนที่มีนักเรียน 38-42 คน จำนวน 780 แห่ง นักเรียน 31,346 คน เดิมได้งบ 125,384,000 บาท ควรเพิ่มเป็น 28 บาท ต่อคนต่อวัน

นายสุเทพกล่าวต่อว่า โรงเรียนที่มีนักเรียน 43-50 คน จำนวน 1,484 แห่ง นักเรียน 69,177 คน เดิมได้งบ 272,708,000 บาท ควรเพิ่มเป็น 27 บาท ต่อคนต่อวัน โรงเรียนที่มีนักเรียน 51-60 คน จำนวน 1,741 แห่ง นักเรียน 96,600 คน เดิมได้งบ 386,400,000 บาท ควรเพิ่มเป็น 26 บาท ต่อคนต่อวัน โรงเรียนที่มีนักเรียน 61-75 คน จำนวน 2,911 แห่ง นักเรียน 196,566 คน เดิมได้งบ 786,264,000 บาท ควรเพิ่มเป็น 25 บาท ต่อคนต่อวัน โรงเรียนที่มีนักเรียน 76-100 คน จำนวน 3,982 แห่ง นักเรียน 348,739 คน เดิมได้งบ 1,394,956,000 บาท ควรเพิ่มเป็น 24 บาท ต่อคนต่อวัน

Advertisement

นายสุเทพกล่าวอีกว่า โรงเรียนที่มีนักเรียน 101-120 คน จำนวน 2,643 แห่ง นักเรียน 290,364 คน เดิมได้งบ 1,161,456,000 บาท ควรเพิ่มเป็น 23 บาท ต่อคนต่อวัน โรงเรียนที่มีนักเรียน 121-200 คน จำนวน 6,625 แห่ง นักเรียน 1,005,875 คน เดิมได้งบ 4,023,500,000 บาท ควรเพิ่มเป็น 23 บาท ต่อคนต่อวัน สรุป นักเรียน 2,102,781 คน งบประมาณเดิมที่สนับสนุน 20 บาทต่อหัว คิดเป็นเงิน 8,411,124,000 บาท งบประมาณที่เสนอขอ 10,074,906,000 บาท เพิ่มขึ้น 1,663,782,000 บาท

“ทั้งนี้ ข้อมูลทั้งหมด เป็นเพียงจำนวนตัวเลขเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องจำนวนเงิน เพราะต้องนำข้อมูลนี้ไปขอความคิดเห็นจากหลายฝ่าย เช่น สำนักโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กรมอนามัย กรมบัญชีกลาง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณก่อน และภายในสัปดาห์หน้าจะนำเสนอให้นายณัฏฐพล พิจารณาต่อไป” นายสุเทพกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image