สกศ. เล็งชง ‘ณัฏฐพล’ สั่งรื้อ กม.การศึกษาแห่งชาติ สางปม ‘ครูใหญ่-ใบอนุญาตวิชาชีพ’

สกศ. เล็งชง ‘ณัฏฐพล’ สั่งรื้อ กม.การศึกษาแห่งชาติ สางปม ‘ครูใหญ่-ใบอนุญาตวิชาชีพ’ ค้านออก พ.ร.ก.ฯ

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….” ที่มีนายสุภัทร จำปาทอง
เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธาน

นายสุภัทร กล่าวว่า สกศ. เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ซึ่งได้ยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และขณะนี้ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนกฎหมายและปรับปรุงให้มีความสอดคล้องนโยบายรัฐบาล แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

นายสุภัทร กล่างต่อว่า อย่างไรก็ตาม สกศ. จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายการศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนองค์กรวิชาชีพครู ครู อาจารย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน และประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 2 ครั้ง วันที่ 26 – 27 ส.ค. 62 ในงานมหกรรมการศึกษาแห่งชาติ : ก้าวสู่คุณภาพการศึกษาที่ดีกว่า จัดโดย สกศ. ที่โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ เพื่อเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ศธ. โดยจะได้สรุปความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากทุกฝ่ายอย่างรอบด้านรายงานถึงนายณัฏฐพล ในฐานะประธานกรรมการสภาการศึกษา (กกส.) เพื่อพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และมั่นใจว่าจะสามารถบังคับใช้กฎหมายนี้ได้ภายในปี 2562

“สกศ. จะได้เร่งวิเคราะห์ความคิดเห็นที่แตกต่างจากทุกฝ่ายที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อจัดระบบการทบทวนร่างกฎหมายใหม่ อาทิ 1.รูปแบบร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และผลกระทบต่อการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ 2.กระบวนการที่ใช้ในระหว่างการส่ง ร่าง พ.ร.บ.ฯ ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา 3.รายละเอียดความเชื่อมโยง โครงสร้างการบริหารจัดการต่าง ๆ และรายละเอียดในรายมาตรา ซึ่งต้องปรับปรุงพัฒนากระบวนการต่าง ๆ รายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตามลำดับเพื่อดำเนินการต่อไป” นายสุภัทร กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขวางหลากหลายมุมมองถึงสภาพปัญหาการศึกษาไทยมีคุณภาพตกต่ำตามที่อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่ยกร่างฯ มีสาเหตุมาจากปัญหาหลัก 4 ประการ 1.ปัญหาทางโครงสร้างของการบริหารจัดการการศึกษาของ ศธ. ที่กระจายเกินไป ขาดจุดศูนย์รวม 2.ปัญหาครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่ไม่ขาดคุณภาพ ทำให้การศึกษาไม่มีคุณภาพ 3.ปัญหาเงินค่าวิทยฐานะของข้าราชการครูที่เพิ่มสูงขึ้นมาตลอด แต่ไม่ได้ตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนให้ดีขึ้น และ 4.ปัญหาการจัดทำหลักสูตรการศึกษาที่ไม่ทันสมัย ปัญหาการจัดการเรียนการสอนและการวัดผลการประเมินผลการศึกษาที่ไม่เคยได้รับการพัฒนามายาวนาน ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามารับผิดชอบ

นอกจากนี้ ยังได้อภิปรายข้อเรียกร้องจากหลากหลายองค์กรของกลุ่มวงการวิชาชีพครู เช่น สมาพันธ์ครูประถมศึกษาภาคอีสาน สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ชมรมอดีตผู้อำนวยการสามัญศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา เป็นต้น ที่ต้องการให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. หลายประเด็น เช่น ขอให้วิเคราะห์และทบทวนมาตรา 22 ที่ให้สถานศึกษาจัดให้มีคณะกรรมการสถานศึกษา ทำหน้าที่กำกับเสนอแนะช่วยเหลือเพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุเป้าหมายตามมาตรา 8 ที่มุ่งพัฒนาฝึกฝนคนตามช่วงวัย และหน้าที่อื่นตามวรรคสอง มีความจำเป็นมากน้อย และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างไร

มาตรา 35 เสนอยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยครูใหญ่ ที่มีบัญญัติให้สถานศึกษามีครูใหญ่ 1 คน รับผิดชอบงานบริหาร ให้มีผู้ช่วยครูใหญ่ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เจ้ากระทรวงกำหนด ผู้ช่วยครูใหญ่ อาจตั้งจากผู้ที่มิใช่ครูก็ได้ โดยให้คณะกรรมการนโยบายการศึกษา แห่งชาติมีแนวทางสรรหาคัดเลือกและพัฒนา

Advertisement

มาตรา 37 กรณีเสนอเปลี่ยนตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นครูใหญ่ บัญญัติว่าให้ครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่ ครู อาจมีความก้าวหน้าตามที่กฎหมายกำหนด ครูใหญ่และผู้ช่วยครูใหญ่อาจมีชื่อตำแหน่งเรียกเป็นอย่างอื่นตามที่กฎหมายกำหนดก็ได้

มาตรา 100 ประเด็นเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็น ใบรับรองความเป็นครู ซึ่งเป็นเอกสารหนังสือที่แสดงว่าวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยร่าง พ.ร.บ.ฯ บัญญัติว่า ครูซึ่งได้ใบอนุญาตประกอบวิชาอาชีพครูและครูที่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาอาชีพครู มีสิทธิขอใบอนุญาตประกอบอาชีพครูเพื่อรับรองความเป็นครู รวมถึงการผลักดันวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยขอให้ยุติการบังคับใช้กฎหมายนี้จากร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. เป็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และเสนอให้มีคณะกรรมการทบทวนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….

ด้านนายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า รัฐบาลมอบหมาย สกศ. ทบทวนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่ยกร่างโดย กอปศ. และมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระสำคัญบางส่วนในชั้นพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ สกศ. เตรียมจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อสรุปสาระสำคัญรายงาน รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในการประชุมสภาการศึกษาอีกครั้ง

“การระดมความคิดเห็นวันนี้เป็นจุดเริ่มที่ดี โดย สกศ. เป็นผู้ประสานความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการปรับปรุงพัฒนาร่างกฎหมายด้านการศึกษาฉบับอื่น ๆ ร่วมกับเครือข่ายการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image