‘คุณหญิงกัลยา’ เล็งมอบ ‘สทศ.’ บรรจุ ‘โค้ดดิ้ง’ ลงข้อสอบโอเน็ต

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา (ศธ.) เปิดเผยว่า นโยบายเร่งด่วนข้อที่ 7 ของรัฐบาล คือการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่ง ศธ.ถือเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการพัฒนา และเตรียมความพร้อมให้คนศตวรรษที่ 21 ดังนั้น ตนจึงผลักดันนโยบายการสอนโค้ดดิ้งเป็นอย่างแรก โดยปีแรกวางแผนเปิดสอนให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 โดยจะสอนให้นักเรียนคิดอย่างเป็นระบบ มีตรรกะ และแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สิ่งเหล่านี้เป็นหลักคิดของโค้ดดิ้ง ซึ่งสามารถสอน และสร้างกิจกรรมให้นักเรียน ได้เรียน และเล่น โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือ หรือคอมพิวเตอร์ การเรียนลักษณะนี้เรียกว่าการเรียนแบบอันปลั๊ก (Unplugged)

“การสอนโค้ดดิ้งถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะถึงตัวนักเรียนโดยตรง และตอบโจทย์ยุคไทยแลนด์ 4.0 ส่วนหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสอนโค้ดดิ้ง คือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพราะนักเรียนเป้าหมายส่วนใหญ่อยู่ในนี้ พร้อมให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อบรมครูแกนนำ 1,000 คน ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้ครูแกนนำขยายผลต่อไปโดยใช้หลักสูตร และตำราที่ สสวท.จัดทำขึ้นมารองรับ” คุณหญิงกัลยา กล่าว

คุณหญิงกัลยากล่าวต่อว่า เมื่ออบรมครูแกนนำแล้วเสร็จ ขั้นต่อไปจะให้โรงเรียนที่สนใจ และมีความพร้อม สมัครเข้ารับการอบรม เพื่อเปิดสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ได้ทันที ขณะนี้กำลังวางแผนขั้นตอนในการเปิดรับสมัครโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมในการสอน ว่าจะเปิดรับสมัครในระบบออนไลน์ หรือออฟไลน์ แต่เชื่อว่ามีโรงเรียนที่สนใจจำนวนมาก เพราะไม่อยากตกขบวน

“ส่วนการประเมิน จะมีต้องมีตัวชี้วัดว่านักเรียนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง มี 2 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ตัวชี้วัดที่เป็นนามธรรม คือครูรับรู้ได้ว่านักเรียนมีพัฒนาการที่ดี และอยากเรียนมากขึ้น และ 2.ตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม คือให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) บรรจุการสอนโค้ดดิ้ง เข้าไปในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ด้วย เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ส่วนจะบรรจุการสอบโค้ดดิ้งให้ทันภายในการสอบโอเน็ต ปีการศึกษา 2562 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานตามขั้นตอนของ สทศ.ว่าจะทำได้เร็วหรือไม่” คุณหญิงกัลยา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image