จุฬาฯ ตั้งวงถกปัญหาร.ร.ขนาดเล็ก สะท้อนความเหลื่อมล้ำ

นายสมพงษ์ จิตระดับ  อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว  เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้จัดเสวนาแลกเปลี่ยนในประเด็น “การศึกษาเพื่อความเท่าเทียมกับโรงเรียนที่หายไป”  โดยพูดถึงปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก คือภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยที่ชัดเจนมากที่สุด ในภาวะที่อนาคตทางการศึกษาของเด็กไทยถูกกำหนดตัวเลือกไว้ให้แล้ว สิทธิทางการศึกษาที่มีอยู่แต่กลับไร้คุณภาพ และโรงเรียนใกล้บ้านที่มีคุณภาพยังไม่มีอยู่จริง ทั้งนี้โรงเรียนเล็กมีความเป็นวิถีชีวิต มีภูมิสังคมมีรากฐานประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น เด็กจึงเจริญเติบโตผ่านการพัฒนาอัตลักษณ์ที่แข็งแกร่ง แต่ที่ผ่านมาโรงเรียนขนาดเล็กต้องเผชิญกับ 4 กระหน่ำ คือ 1. รัฐเข้าไปจัดการ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ยึดการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นหลัก โดยมองว่าการศึกษาคือการสร้างคนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม เราจะเห็นเมืองเจริญเติบโตขึ้น แต่คนอ่อนแอลง 2. การปฏิรูปการศึกษาในปี 2542 โดยระบบการศึกษาออกแบบมาโดยมีการกำหนดแรงจูงใจ ในวิทยฐานะและงานเอกสาร ซึ่งเด็กถูกวัดคุณภาพไม่ผ่านแต่ครูมีผลงานที่เติบโตขึ้น

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า 3. การวัดผลทั้ง PISA และ ONET พอผลการศึกษาต่ำลง WorldBank เข้ามานำเสนอให้ยุบ ควบรวมโรงเรียนเพื่อความคุ้มทุน ซึ่งการกำหนดนโยบายโดยภาครัฐส่งผลกระทบโดยตรงแบบนโยบาย บนลงล่าง 4. การมองมิติเรื่องงบประมาณ เศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียวในการจัดการศึกษา ไม่ได้มองมิติ ทางสังคม ซึ่งหมายถึงการตอบโจทย์การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และผลิตคนเพื่อให้มีความผูกพัน กับท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญมาก ประเด็นปัญหาความเหลือมล้ำในสังคมยิ่งถ่างมาก ทั้งนี้ ถ้าหากมองปัญหาเป็นโอกาส นี่เป็นโอกาสในการสร้างสังคมที่เข้มแข็งของชุมชน ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการไม่ทำอะไรเลยนิ่ง ไม่กระจายงบประมาณไปยังโรงเรียนขนาดเล็กเลย เด็กย้ายออก ครูย้ายออก ความมั่นใจในโรงเรียนขนาดเล็กลดลง เลยเกิดปรากฎการณ์การศึกษาที่ทำให้โรงเรียนเล็ก ถูกทิ้งร้าง

“ปัจจุบันคนหนุ่มสาวที่อยากกลับไปชุมชนก็ทำไม่ได้ ด้วยค่านิยมสังคมที่มองว่าคนหนุ่มสาว กลับถิ่นคือผิดหวังมา กลับไปก็อยู่แบบคนแปลกแยก เพราะไม่ได้มีรากกับชุมชน นี่คือสิ่งหนึ่งที่เป็นผล จากการที่การศึกษาไปกระจุกตัวอยู่ในเมือง คำถามสำคัญของปัญหาที่แท้จริงของโรงเรียนขนาดเล็ก คือ เกิดจากเด็กลดลง หรือเกิดจาก ระบบที่ กระทรวงศึกษาธิการสร้างขึ้นมากันแน่ ต้องวิเคราะห์ออกมา กพฐ.ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่และมี ประสิทธิภาพแล้วหรือยัง”นายสมพงษ์กล่าว  และว่า ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการยืนหยัดเพื่อการศึกษาเพื่อความเท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ได้ที่ Facebook Fanpage : Equal Stand (www.facebook.com/Equal-Stand-102975547737670/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image