สพฐ.ลุยควบรวมร.ร.เล็ก ‘ครูตั้น’ สั่งโยก ‘อัตราผอ.’ ลง ‘อนุบาล’

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 15,715 โรงเรียน โดยได้มีการสำรวจข้อมูลสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ รวมถึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก ปีงบประมาณ 2562-2565 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยจากการสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจ พบว่า ในหลายพื้นที่แก้ปัญหาโดยวิธีการควบรวม มีการเรียนรวมทุกชั้นและเรียนรวมบางชั้นเรียน ล่าสุดมีโรงเรียนที่ควบรวมไปแล้ว จำนวน 5,685 โรงเรียน นักเรียนได้รับการสนับสนุนค่าพาหนะกว่า 75,000 คน โดยเรียนในโรงเรียนดีใกล้บ้าน 249 โรงเรียน โรงเรียนเครือข่าย 474 โรงเรียน ในส่วนของ สพฐ. ได้สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับการเรียนแบบคละชั้น การจัดสื่อการเรียนการสอน และการศึกษาทางไกล DLTV/DLIT การบูรณาการเรียนการสอนลักษณะนี้เป็นแนวทางที่สพฐ.จะขับเคลื่อนต่อไป
“วันที่ 30 สิงหาคมนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ จะส่งแผนการบริการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้สพฐ. พิจารณา จากข้อมูลยังมีโรงเรียนที่ต้องคงอยู่ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อีก 1,917 แห่ง จากนี้ สพฐ. จะทำงานเชิงรุกซึ่งที่ผ่านมาพบแล้ว ว่าการควบรวม โรงเรียน เป็นการส่งเสริมให้เกิดคุณภาพ แต่ก็ต้องดูบริบทที่เหมาะสมด้วย การพิจารณาแก้ปัญหาจะอยู่ที่พื้นที่ สพฐ. เองไม่มีจุดเน้นใดเป็นพิเศษ ส่วนอัตราผู้บริหารโรงเรียนที่ควบรวม จะต้องถูกยุบตามหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของพื้นที่” นายสุเทพกล่าว
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ขอให้เขตพื้นที่ฯ แจ้งตัวเลขผู้บริหาร ว่ามีเท่าไร โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้นโยบายว่า เป็นไปได้หรือไม่ เมื่อควบรวมแล้ว จะให้อัตราผู้บริหารมาอยู่ในโรงเรียนอนุบาล เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ขณะที่ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนดมาแล้วว่า โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน เมื่อมีผู้บริหารเกษียณให้ตำแหน่งยุบตามตัวบุคคล ไม่แต่งตั้งเพิ่ม ซึ่งเท่าที่สำรวจแล้ว พบว่า โรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มนี้มีจังหวัดละ 1 แห่ง รวมประมาณกว่า 70 โรงเรียน และบางแห่งจำเป็นต้องคงอัตราไว้ เพราะเป็นโรงเรียนในพื้นที่เกาะแก่ง ห่างไกล กันดาร โดดเดี่ยว ดังนั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้สพฐ. จึงส่งหนังสือขอยกเว้นไม่ยุบอัตราในกรณีที่จำเป็นไว้แล้ว ผู้บริหารที่สอบขึ้นบัญชี และอบรมเรียบร้อยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีอัตราบรรจุ ทราบว่ามีหลายคนกังวลว่าจะมีปัญหา ก็ไม่ต้องห่วง
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังสั่งการให้ สพฐ. ไปรวบรวมกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้มานานกว่า 5 ปี ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร โรงเรียนขนาดเล็ก การบริหารเขตพื้นที่ฯ เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัยและมีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน โดยได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image