‘ชัชชาติ’ แนะนิสิต มศว ปรับตัวเพื่อโลกอนาคต ต้อง ‘เข้าใจผู้อื่น-ใฝ่รู้ตลอดชีวิต’ (คลิป)

‘ชัชชาติ’ แนะนิสิต มศว ปรับตัวเพื่อโลกอนาคต ต้อง ‘เข้าใจผู้อื่น-ใฝ่รู้ตลอดชีวิต’ ‘ฐากูร’ จี้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่อาคารนวัตกรรมศาสตราจารย์ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ (มศว) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะสังคมศาสตร์ จัดงานวันสถาปนาคณะสังคมศาสตร์ ครบรอบ 44 ปี โดยภายในงานช่วงเช้ามีการถวายภัตตาหารเช้า และถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์ ต่อมาเวลา 09.30 น. มีพิธีมอบเกียรติบัตร และมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษา มอบเกียรติบัตรและช่อดอกไม้แก่ผู้มีอุปการคุณ และศิษย์เก่าดีเด่น โดยมีนายสมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมศว นายชลวิทย์ เจียรจิตต์ คณบดีสังคมศาสตร์ นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกล่าวปาฐกาถา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมบรรยายพิเศษทางวิชาการหัวข้อ “การปรับตัวเพื่อโลกอนาคต” นายดำรง พุตตาล ประธานมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวสรุปการบรรยาย และมีบุคลากรมหาวิทยาลัย นิสิตเข้าร่วมกว่า 500 คน

นายชลวิทย์ กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า 44 ปี ที่คณะสังคมศาสตร์ อยู่ใต้ร่มเงาของ มศว ที่กำลังจะครบรอบ 70 ปีในปี 2562 นี้ คณะสังคมศาสตร์มีปรัชญาสำคัญคือ “สังคมศาสตร์ เพื่อสังคม” ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยที่เป็น มหาวิทยาลัยรับใช้สังคม และในปี 2562 คณะสังคมศาสตร์มีนิสิตทุกชั้นปี รวม 3,049 คน เปิดสอน 4 ภาควิชา 6 หลักสูตร นิสิตปีที่ 1 มีจำนวน 820 คน เพิ่มจากปี 2561 จำนวน 260 คน รวมทั้งมีหลักสูตรใหม่เพิ่มขึ้นมา คือ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต หรือนิติศาสตร์เพื่อสังคม ตามแนวนโยบายของอธิการบดี ที่อยากให้มีการเรียนการสอนกฎหมาย ซึ่งมีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนกว่า 1,600 คน รับได้เพียง 120 คน

“คณะสังคมศาสตร์มีศิษย์เก่าที่เข้มแข็งที่ช่วยงานมหาวิทยาลัยมาตลอด และได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอุปการคุณ ที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษาและสนับสนุนนิสิตอย่างเต็มที่ ในปี 2562 คณะสังคมศาสตร์และผู้อุปการคุณได้มอบทุนการศึกษาให้กับนิสิต 194 คน เป็นจำนวนเงิน 1,216,200 บาท” นายชลวิทย์ กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า ตนได้เห็นความเติบโตและเปลี่ยนแปลงมากมายในคณะสังคมศาสตร์ ที่ปัจจุบันมีทั้งศูนย์อินเดียศึกษา หลักสูตรนิติศาสตร์เพื่อสังคม โดยสิ่งเหล่านี้เป็นการรองรับและเตรียมคนเพื่อสังคมทั้งสิ้น ซึ่งตนมองว่าเป็นทิศทางที่เหมาะสมในการดำเนินงานของคณะสังคมศาสตร์ รวมถึงการสนับสนุนให้นิสิตมีจิตอาสาในหลายๆด้าน

Advertisement

“เป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยและผม ที่คณะสังคมศาสตร์มีความก้าวหน้า และทำเพื่อสังคมอย่างแท้จริง แม้ในอดีตที่ผ่านมาจะมีเพียงไม่กี่ภาควิชา ไม่กี่หลักสูตร แต่ในปัจจุบันมีหลักสูตรจำนวนมากขึ้น และเป็นหลักสูตรที่ทำเพื่อสังคมทั้งสิ้น เรื่องวิชาการเช่นกันที่เราจะหล่อหลอมให้นิสิต เป็นนิสิตที่มีคุณภาพ ออกไปรับใช้สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อพัฒนาและช่วยให้สังคมไทยให้มีความยั่งยืน อยู่อย่างมีความสุข” นายสมชาย กล่าว

นายฐากูร กล่าวปาฐกาถาพิเศษว่า นายชัชชาติเคยพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงในอนาคต มีหลักอยู่ 2 ประการ คือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในโลกจากการเติบโตแบบขั้นบันได จะเปลี่ยนเป็นขึ้นลิฟต์ กราฟจะตั้งชันขึ้นในระดับ 90 องศา ภายในช่วงปี 2018-2025 และกฎของมัวร์ (Moore’s Law) ที่ว่าด้วยความจุในชิปคอมพิวเตอร์ที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในทุกๆ 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา ความจุของชิปที่มีเพิ่มขึ้นทำให้ความสามารถและกำลังของคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เราสามารถเห็นได้ชัดที่สุด และพูดถึงกันมากที่สุด แต่สิ่งที่เราไม่ได้พูดต่อคือเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป โลกเปลี่ยนไป เราจะตั้งรับ ดูแลตัวเอง ดูแลพี่น้อง ลูกหลาน เพื่อนร่วมสังคมของเราอย่างไร

“เราหนีไม่ได้ และหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งโลก เมื่อหนีไม่ได้ต้องอยู่กับมัน และใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ที่สุด อย่างที่ ชาลส์ ดาวินส์ ได้กล่าวไว้ว่า สัตว์หรือเผ่าพันธุ์ที่อยู่รอดไม่ใช่ตัวที่แข็งแรงที่สุด แต่เป็นตัวที่ปรับตัวมากที่สุด ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันอันเนื่องมาจากเทคโนโลยี อาจจะลึกซึ้งและรุนแรงกว่าครั้งไหนๆ แต่ผมเชื่อว่าในแก่นของความมนุษย์หลายอย่างไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป รัก โลภ โกรธ หลง ความรู้สึกรับผิดชอบชั่วดีก็ยังอยู่ ดังนั้นเป็นที่น่าดีใจที่สถาบันการศึกษาอย่าง มศว เป็นสถานที่แรกๆ ที่เริ่มต้นพูดเรื่องการเตรียมตัวเพื่อรองรับอนาคต ซึ่งเราจะเห็นอย่างชัดเจนว่าจะเปลี่ยนแปลงและสร้างผลกระทบอย่างมากกับคนที่ไม่ได้เตรียมตัว หรือเตรียมตัวน้อย” นายฐากูร กล่าว

Advertisement


ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า กฎของมัวร์ (Moore’s Law) ที่ทำนายไว้ว่าปริมาณของทรานซิสเตอร์บนวงจรรวม จะเพิ่มเป็นเท่าตัวโดยประมาณทุกๆ 2 ปี ดังนั้นจากที่เราเห็นว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ยกตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือที่มีมากว่า 100 ปี แต่กลับเห็นว่า 30 ปีที่ผ่านมาโทรศัพท์มือถือพัฒนาไปเร็วมาก ไม่ใช่เพราะมนุษย์ฉลาดขึ้น แต่เครื่องมีการประมวลผลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปัจจุบันปัญหาของประเทศไทยคืออะไร เช่น การศึกษา ความขัดแย้งทางการเมือง สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน การทุจริตคอรัปชั่น อำนาจรวมศูยน์ เอื้อทุนใหญ่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาทางสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ทั้งหมด ไม่ใช่ปัญหาทางเทคโนโลยี อีกทั้งปัจจุบันนี้การให้ทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย พ.ศ.2559 จะพบว่า วิทยาศาสตร์ได้รับงบสนับสนุนการวิจัยกว่า 102,891 ล้านบาท แต่ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ได้รับงบสนุบสนุน 10,427 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของทุนวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพราะประเทศคิดว่าต้องเอาเทคโนโลยีเป็นหลักในการพัฒนาประเทศ แต่อย่าลืมว่าปัญหาต่างๆ ต้องแก้ด้วยหลักการการอยู่ร่วมกันของมนุยษ์ ดังนั้นการวิจัยต่างๆ ต้องเข้มข้นและเกี่ยวข้องกันเมากขึ้น เราจะอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีอย่างไร และจะดูแลผู้ที่ก้าวไม่ทันเทคโนโลยีอย่างไร

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า Paul Krugman นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวไว้ว่าอนาคตความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้น เพราะความรวยจะกระจุกอยู่กับคนที่มีเทคโนโลยีเท่านั้น และในอนาคตคนจาก Middle Class อาจจะไม่มีและกลายเป็น Useless Class ทั้งหมด ซึ่งตนเชื่อว่าแรงงานราคาถูกจะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และผู้ที่จบระดับปริญญาตรีจะตกงานมากขึ้น เพราะถูกทดแทนด้วย AI ส่วนแรงงานราคาถูกนั้นไม่คุ้มกับการเอาหุ่นยนต์มาทำงานแทน ดังนั้นต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่าเราจะเรียนรู้และอยู่อย่างไร

“ในอนาคตผมเชื่อว่าคนจะสามารถอยู่รอดได้ โดยต้องรู้ลึกด้านสังคมศาสตร์และต้องรู้กว้าง รู้จักทั้งศาสตร์และศิลป์ การเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องสนใจในสิ่งที่ไม่สนใจ เพื่อความอยู่รอดและเตรียมตัวสำหรับอนาคต เชื่อว่าผู้ที่เรียนระดับปริญญาตรีอาจจะไม่ตกงาน แต่งานอาจจะเปลี่ยนรูปแบบ ดังนั้นต้องปรับตัวให้ทัน ต้องอัพเดตตลอดเวลา” นายชัชชาติกล่าว


นานชัชชาติ กล่าวต่อว่า นักวิชาการได้ทำนายว่าอนาคตโลกนั้นจะวุ่นวายและเราต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ประกอบด้วย 5 สิ่งคือ 1.Stay Relevant ที่มีอยู่ 10 อย่างคือ Energence จะชนะ Authority คนตัวเล็กตัวน้อยจะชนะระบบราชการ ที่เห็นตัวอย่างได้ชัดคือ การที่พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจนกลายเป็นหนึ่งในพรรคที่มี ส.ส.เป็นจำนวนมาก หรือการประท้วงของประชาชนในฮ่องกง เป็นต้น 2.Pull จะชนะ Push ธุรกิจรูปแบบ Push ในรูปแบบเก่าจะหมดไป 3.Compasses จะชนะ Maps 4.Risks จะชนะ Safety 5.Disobedience จะชนะ Compliance 6.Practice จะสำคัญกว่า Theory ในอนาคตเราจะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น 7.Diversity จะชนะ Ability 8.Resilience จะชนะ Strength 9.Systems จะชนะ Objects และ 10.Learning จะชนะ Education ดังนั้นทุกคนต้องใฝ่รู้ตลอดชีวิต

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า การปรับตัวต่อมาคือ 2.Whiplash ต้องคิดและเตรียมว่าชีวิตเราถูกเปลี่ยนแปลงโดยเทคโนโลยีอย่างไร 3.Platform Revolution ที่ Platfrom ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ต้องตั้งรับและรับมือให้ทันกับทุกสถานการณ์ 4.Design Thinking จะเป็นแนวทางในการสร้างนวัตกรรมโดยเอาคนเป็นจุดศูนย์กลาง เข้าใจผู้ใช้ ระบุโจทย์ คิดหาคำตอบ ทำแบบจำลอง และทดสอบการดำเนินการต่างๆ และ 5.Empathy ซึ่งเป็นการเข้าใจจิตใจของผู้อื่น เปี่ยมจิตสำนึกสาธารณะ อ่อนน้อมถ่อมตน รู้กาละเทศะ มีทักษะการสื่อสาร

“จะเห็นว่าปัจจุบันคนในสังคมเอาตัวเองเป็นที่ตั้งมากขึ้น ต้องส่งเสริมให้เด็กเห็นใจคนอื่นให้มากขึ้น เอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นหัวใจที่จะทำให้เราอยู่ได้ในอนาคต ทำให้การทะเลาะเบาะแว้งและการขัดแย้งลดลงและจะช่วยกันหาทางออกมากขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image