‘สมฤทธิ์’ ลั่น ‘มะเมียะ’ แค่นิยาย ไม่มีตัวตนจริง ชี้พิรุธอื้อ เอกสารไทยไม่บันทึก มะละแหม่งไม่รู้จัก

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 สิงหาคม ที่มติชนอคาเดมี สโมสรศิลปวัฒนธรรม จัดเสวนา “เบื้องหลังเรื่องรักของมะเมียะ” โดย อ.สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ และนักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอุษาคเนย์ อดิศักดิ์ ศรีสม ดำเนินรายการ

อ.สมฤทธิ์ กล่าวว่า ช่วงปี 2400 เชียงใหม่มีอิสระค่อนข้างสูงในแผ่นดินตัวเอง จึงมีการไปมาค้าขายกับเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ผู้เขียนหนังสือชื่อ ‘เพ็ชร์ล้านนา’  เป็นผู้เขียนเรื่องมะเมียะ โดยระบุว่า ปี 2440 เจ้าน้อยศุขเกษม ราชโอรสของเจ้าแก้วนวรัฐ ไปเรียนหนังสือที่มะละแหม่ง ได้พบรักกับสาวพม่า ชื่อมะเมียะ แม่ค้าขายบุหรี่ รักกันจนเรียนจบ ตัดผมให้เป็นผู้ชายและปลอมตัวกลับมาเชียงใหม่ เมื่อถูกจับได้ จึงต้องส่งกลับไปเนื่องจากมะเมียะเป็นคนพม่าอยู่ใต้อังกฤษ และล้านนาจะได้รับความเดือดร้อน

“เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ประตูหายยา เป็นฉากลาที่สะเทือนใจที่สุด มะเมียะสยายผมเช็ดพระบาท และได้วิ่งมากอดถึง 3 รอบ ก่อนจะจากกัน จากนั้นไม่ได้เจอกันอีก เมื่อทั้งคู่ถูกตันสินให้อยู่ด้วยกันไม่ได้ เจ้าน้อยศุขเกษมก็ถูกส่งไปรับราชการที่กรุงเทพฯ ถูกจัดการให้แต่งงานกับเจ้าหญิงบัวชุม ส่วนมะเมียะบวชชีตลอดชีวิต เมื่อครบรอบ 100 ปี เชียงใหม่ มีการหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อรำลึกถึง จนกลายเป็นเรื่องราวที่ได้รับความสนใจอีกครั้ง แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องจริงหรือไม่ จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ การตั้งข้อสังเกต และการลงพื้นที่มะละแหม่งเมื่อ 10 ปีก่อน สรุปว่าไม่มีใครรู้เรื่องมะเมียะในเมืองมะละแหม่ง พอไปสืบว่าคุณปราณีเอาข้อมูลมาจากใคร พบว่าคนที่เห็นเหตุการณ์ในเชียงใหม่ ไม่มีใครมีชีวิตอยู่แล้ว และส่วนมากเป็นข้อมูลชั้น 2-3 ไม่มีข้อมูลชั้นที่ 1″

Advertisement

อ.สมฤทธิ์ ยังตั้งข้อสังเกตพิรุธอีกหลายประการในเรื่องราวของมะเมียะ

“ทำไมที่มะละแหม่งไม่มีใครรู้เรื่องมะเมียะ แต่ที่เชียงใหม่มี สำหรับประเด็นที่ว่ามีคำสั่งห้ามเจ้าล้านนา แต่งงานกับคนต่างด้าว ก็อาจเป็นไปได้ แต่มีหลายกรณีที่เจ้าล้านนาไปแต่งงานกับต่างด้าว เช่น เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ น้องของเจ้าน้อยศุขเกษมเองก็แต่งกับลูกเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง หรือเจ้าเมืองลำปาง ไปแต่งกับลูกเจ้าฟ้าเชียงตุง ฉะนั้นคำสั่งนี้จึงไม่น่าจะจริง ถ้ามองในเชิงจารีต ด้วยสถานะที่ไม่เท่ากัน ถ้ามะเมียะมีตัวตนจริง คนรังเกียจไม่ใช่สยาม แต่น่าจะเป็นครอบครัวของเจ้าน้อยศุขเกษมเอง เพราะเป็นถึงเจ้า หน้าตาดี มีฐานะ แต่ได้สาวชาวบ้านเป็นไพร่ และเป็นคนพม่า ยากจน ขายบุหรี่

เหตุผลต่อมา คือ ตอนที่มะเมียะมาเชียงใหม่ได้ปลอมตัวเป็นชาย ซึ่งยากที่จะจับไม่ได้ เพราะมีหน้าอก และผิวแบบผู้หญิง อีกทั้งมีการเขียนชัดเจนว่าวันที่จากกัน มะเมียะสยายผมเช็ดเท้าเจ้าน้อยศุขเกษม แต่เพิ่งตัดผมตอนปลอมตัวมา ผมจะยาวเร็วขนาดนั้นหรือไม่ จะเห็นว่ามีความย้อนแย้งเต็มไปหมด

เหตุผลที่ 3 กู่วัดสวนดอก มีกู่เจ้าน้อยศุขเกษมที่เป็นทรงล้านนา แต่มีกู่หนึ่ง ขนาดย่อมๆ เป็นทรงพม่า ว่ากันว่าเป็นกู่ของมะเมียะ แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นกู่ของเจ้าแม่ทิพสม”

อ.สมฤทธิ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง แต่ที่ไม่จริงคือรายละเอียด อีกทั้งเป็นหลักฐานชั้น 2 เพราะอ้างว่าฟังจากพ่อ น้ำหนักจึงลดหลั่นลงมา โดยมีบุคคล 2 ท่านที่ระบุว่าเคยเห็นมะเมียะ คือ เจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง และ เจ้าสมบูรณ์ ณ เชียงใหม่ ซึ่งน้องสาวเจ้าสมบูรณ์เป็นผู้เล่าว่า เจ้าสมบูรณ์เคยบอกว่ามะเมียะตอนบวชเป็นชีกำลังกวาดลานวัดอยู่ แต่เจ้าสมบูรณ์รู้จักได้อย่างไรว่าคนนี้คือมะเมียะ พบจริงหรือไม่ พูดภาษาอะไร มีคำถามเต็มไปหมด

“ถ้าเจอมะเมียะจริง ก็น่าจะเจอหลักฐานในมะละแหม่ง แต่ปรากฏว่าไม่มีใครรู้จักมะเมียะในมะละแหม่ง ทั้งที่เจ้าน้อยศุขเกษมเป็นคนหน้าตาดีขนาดนี้ และเป็นที่รู้จัก ถึงขั้นฝรั่งยังเคยเขียนถึง แต่ไม่พบบันทึกเรื่องนี้ อีกทั้งถ้าเรื่องนี้กระทบกระเทือนต่อสยาม จะต้องมีเขียนลงเอกสารบันทึกสยาม ซึ่งไม่มี เรื่องทั้งหมดเกิดจากงานเขียนของคุณปราณี ซึ่งไม่รู้ว่าว่าได้ข้อมูลจากไหน ส่วนตัวมองว่า นี่คือเรื่องนิยายอิงประวัติศาสตร์ คุณปราณีไม่ได้เขียนเป็นประวัติศาสตร์ให้เราเชื่อ อาจจะเป็นการหยิบยกเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาเขียน เหมือนเรื่องผู้ชนะ 10 ทิศ หลักฐานมีน้ำหนักน้อย ที่จะให้เชื่อว่ามะเมียะมีตัวตนจริง มะเมียะ เป็นนวนิยายยิ่งกว่าชีวิตจริง เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ในฐานะที่เราสนใจประวัติศาสตร์ อย่าอ่านเรื่องเดียวแล้วเชื่อ ต้องอ่านหลายเล่มเพื่อให้มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน บางอย่างเขียนเพื่อประโลมโลก ไม่ใช่ประโลมความรู้ แต่เราดันไปเชื่อ” อ.สมฤทธิ์กล่าว

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image