ศธ.คลอดแผนรองรับปฏิรูปประเทศ ปรับโครงสร้าง-ทบทวนพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้ลงนามในประกาศศธ. เรื่อง นโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อให้การดำเนินการจัดการศึกษาและการบริหารจัดการการศึกษาของศธ. มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ วัตถุประสงค์ของแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน เรื่องการเตรียมคนสู่ศตวรรษที่21 โดยมีหลักการ ดังนี้ 1. ให้ความสำคัญกับประเด็นคุณภาพและประสิทธิภาพในทุกมิติ ทั้งผู้เรียน ครูและ บุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือน และผู้บริหารทุกระดับ ตลอดจนสถานศึกษาทุกระดับทุกประเภท และเป็นการศึกษาตลอดชีวิต 2.บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนราชการหลัก องค์การมหาชนในกำกับของรัฐมนตรีว่าการศธ.ให้มีความคล่องตัว รวมทั้งหน่วยงานสังกัดศธ.ในพื้นที่ภูมิภาคให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้ เพื่อดำเนินการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตามนโยบายประชารัฐ

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ระดับก่อนอนุบาล เน้นประสานงานกับส่วนราชการ และชุมชน ในการเตรียมความพร้อมผู้เรียน ในด้านสุขภาพและโภชนาการ และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับระบบโรงเรียนปกติ ระดับอนุบาล เน้นสร้างความร่วมมือกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อออกแบบกิจกรรมการพัฒนาทักษะที่สำคัญด้านต่างๆ เช่น ทักษะทางสมอง ทักษะความคิดความจำ ทักษะการควบคุมอารมณ์ ทักษะการรู้จักและประเมินตนเอง ระดับประถมศึกษามุ่งคำนึงถึงพหุปัญญาของผู้เรียนรายบุคคลที่หลากหลายตามศักยภาพ ด้วยจุดเน้น อาทิ ปลูกฝังความมีระเบียบวินัย ทัศนคติที่ถูกต้อง โดยใช้กระบวนการลูกเสือ และยุวกาชาด เรียนภาษาไทย เน้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้วิชาอื่น เรียนภาษาอังกฤษและภาษาพื้นถิ่น เน้นเพื่อการสื่อสาร เรียนรู้ด้วยวิธีการ Active Learning เพื่อพัฒนากระบวนการคิด การเรียนรู้ จากประสบการณ์จริงหรือจากสถานการณ์จำลองผ่านการลงมือปฏิบัติ และเปิดโลกทัศน์มุมมองร่วมกัน ของผู้เรียนและครูด้วยการจัดการเรียนการสอนในเชิงแสดงความคิดเห็นให้มากขึ้น สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ จัดการเรียนการสอนเพื่อฝึกทักษะการคิดแบบมีเหตุผลและเป็นขั้นตอน โค้ดดิ้ง พัฒนาครูให้มีความชำนาญในการสอนภาษาอังกฤษ และภาษาคอมพิวเตอร์ หรือโค้ดดิ้ง และจัดให้มีโครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ โดยเน้นปรับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกบริเวณโรงเรียนให้เอื้อต่อการสร้างคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะ

“ส่วนระดับมัธยมศึกษา มุ่งต่อยอดระดับประถมศึกษา ด้วยจุดเน้น ดังนี้ จัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์หรือสเต็มศึกษา และภาษาต่างประเทศ จัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อสร้างทักษะพื้นฐานที่เชื่อมโยงสู่การสร้างอาชีพ และการมีงานทำ เช่น ทักษะด้านกีฬาที่สามารถพัฒนาไปสู่นักกีฬาอาชีพ และระดับอาชีวศึกษา มุ่งจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำและสร้างนวัตกรรม จัดการศึกษาในระบบทวิภาคี ให้ผู้เรียนมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เรียนภาษาอังกฤษ จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในภูมิภาคการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย”นายณัฏพลกล่าว และว่า นอกจากนี้ยัง มุ่งสร้างโอกาสให้ประชาชนผู้เรียนที่สำเร็จหลักสูตร สามารถมีงานทำ ด้วยจุดเน้นเรียนรู้การใช้ดิจิทัล จัดทำหลักสูตรพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ส่วนการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้ทุกหน่วยงานปรับปรุงแผนปฏิบัติราชการ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และวางแผนการใช้งบประมาณเป็นรายไตรมาส รวมทั้งใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง จัดทำฐานข้อมูลหรือบิ๊กดาต้า ของศธ. ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ทันสมัย ปรับปรุงโครงสร้างของศธ.ให้เกิดความคล่องตัว หากติดขัดในเรื่องข้อกฎหมาย ให้ผู้บริหารระดับสูงร่วมหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน ให้หน่วยงานระดับกรมกำหนดแผนงานสนับสนุนทรัพยากร งบประมาณ อัตรากำลัง ตามความต้องการจำเป็น ให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ภูมิภาค ใช้กลไกกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มาบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยจัดการศึกษา ขณะเดียวกัน เร่งทบทวน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. โดยปรับปรุงสาระสำคัญ ให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ส่วน ในระดับพื้นที่หากเกิดปัญหาข้อติดขัดการปฏิบัติงาน ต้องศึกษา ตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น จำนวนเด็กในพื้นที่น้อยลง ซึ่งจำเป็นต้องมีการควบรวมโรงเรียน ให้พิจารณาสื่อสารอธิบายทำความเข้าใจที่ชัดเจนกับชุมชน วางแผนการใช้อัตรากำลังครู โดยเฉพาะครูระดับอนุบาล และครูระดับอาชีวศึกษา ให้มีประสิทธิภาพ และจัดทำแผนการประเมินครูอย่างเป็นระบบ รวมทั้งจัดทำหลักสูตรการพัฒนาครูให้มี องค์ความรู้และทักษะในด้านพหุปัญญาของผู้เรียน ให้ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)จัดทำแผนการจัดการศึกษาของแต่ละจังหวัด นำเสนอต่อคณะกรรมการกศจ. และขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image