เปิดงานวิจัย เจาะขั้นตอนลึก ‘พิธีศพ’ กะเหรี่ยง ไม่มี ‘ลอยอังคาร’

กลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนัก หลังมีผู้ระบุว่า พื้นที่ซึ่งพบเศษกระดูกที่ยืนยันแล้วว่าเป็นของ ‘บิลลี่’ ผู้หายตัวลึกลับ 5 ปี เป็นจุดที่กะเหรี่ยงนำกระดูกมาลอยอังคาร กระทั่งมีชาวกะเหรี่ยงรวมถึงภรรยาของบิลลี่เองที่ออกมายืนยันว่าชาติพันธุ์ของตนไม่มีการลอยเถ้ากระดูกแต่อย่างใด

‘มติชนออนไลน์’ เปิดข้อมูลจากรายงานด้านมานุษยวิทยา เจาะลึกรายละเอียดด้านความเชื่อ พิธีกรรมอันเนื่องจากความตายของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หรือ ‘ปกากญอ’ โดยเป็นการ ‘ฝังศพ’ ในป่าช้า หรือ ‘เผา’ โดยไม่มีการลอยอังคาร

ขั้นตอนที่ปรากฏในปริญญานิพนธ์ ของ ชลกาญจน์ ฮาซันนารี ที่เสนอต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องการศึกษาสภาพการดำรงชีวิตของเผ่ากะเหรี่ยง กรณีศึกษาบ้านคำหวัน ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และข้อมูลจากโครงการพิพิธภัณฑ์ชนเผ่าออนไลน์ มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่า

ในหมู่บ้านหากมีผู้คนในหมู่บ้านเสียชีวิตลง เพื่อนบ้านทุกคนจะหยุดงานเพราะถือเป็นข้อห้าม ซึ่งเรียกว่า “ดึปกาซะลอ หม่า” คือข้อห้ามสำหรับวิญญาณที่หลุดหายไป ทุกคนในหมู่บ้านจะหยุดทำงานเพื่อที่จะมาร่วมงานศพ  โดยเฉพาะหนุ่มสาวจะถือโอกาสทำความรู้จัก สนิทสนม ชอบพอกันและแต่งงานกันในภายหลัง ผู้มีฐานะดีจะเก็บศพไว้นานอย่างน้อย 2-3 วัน งานศพใหญ่โตจะเก็บไว้นาน ศพผู้มีฐานะดีจะบรรจุไว้ในโลงที่ประดับอย่างสวยงาม ส่วนผู้มีฐานะไม่ดีจะใช้เสื่อห่อศพโดยใช้ด้ายดิบมัดศพ

Advertisement

ขั้นแรกญาติพี่น้องก็จะอาบน้ำศพ และนำเสื้อผ้าใหม่ ๆ มาสวมใส่ให้เสร็จแล้วก็จะห่อศพด้วยเสื้อตีข้าว และเตรียมสัมภาระให้แก้ศพ หลังจากห่อศพแล้วจะหาไม้ไผ่หนึ่งท่อนยาวนำมาผ่าออกเป็น 4 ซีกเท่า ๆ กัน ครึ่งท่อนแล้วง่ามลงบนศพเพื่อยึดศพให้มั่น เรียกไม้ไผ่ท่อนนี้ว่า ไม้ง่ามศพ จากนั้นก็จะนำเสื้อผ้า ของศพที่ญาติพี่น้องมอบให้ แขวนไว้ที่ปลายท่อนไม้ไผ่

เสื้อผ้า และข้าวของของศพนี้เรียกว่า ”ปวา ซี อ่ะ กื่อ” มีความหมายว่า “สัมภาระศพ” เป้าหมายการเตรียมสัมภาระของศพนี้ ก็เพื่อทำความร่มรื่นให้ศพ ขณะเดินทางกลับไปยังโลกหน้า

ตกเย็นขับลำนำส่งวิญญาณศพ โดยชายหนุ่มและพ่อบ้านจะขึ้นขับลำนำที่ขับในช่วงนี้ จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับคนตาย ลำนำสำหรับศพนี้ผู้ขับจำกัดเฉพาะแต่ผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงจะขับลำนำนี้ไม่ได้ ถือเป็นสิ่งต้องห้าม โดยลำนำที่ขับมีชื่อเรียกว่า “ทาโหร่ควา”

ผู้เสียชีวิตที่เป็นวัยหนุ่มสาวจะมีการสร้างกระต๊อบหลังเล็กที่กิ่วดอย ใกล้ ๆ หมู่บ้าน และนำเสื้อผ้า ข้าวของไปวางไว้บนกระต๊อบหลังนั้น สิ่งของเหล่านี้เรียกว่า “เสอะเล” ผู้เสียชีวิตกลุ่มนี้มีลำนำส่งวิญญาณโดยเฉพาะเช่นกัน ซึ่งเรียกว่า “ทาเยอลอ” แปลว่า “ลำนำ คนึงหา”

ก่อนปลงศพจะมีการเตรียมสัมภาระและข้าวของให้ศพ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยจำเป็นในการดำเนินงาน ได้แก่ ย่าม มีด หม้อ ชาม ถ้วย ไม้ขีดไฟ เชื้อมัน เชื้อข้าว กล้ากล้วย ยาสูบ หมาก พลู เป็นต้น ข้าวของสัมภาระทั้งหมดจะบรรจุลงในกะฉุกใบหนึ่ง เมื่อได้ เวลาปลงศพ กะฉุกใบนี้ก็จะถูกเอาไปด้วย ปลงศพเสร็จแล้วจะนำกะฉุกใบนี้ไปวางไว้ใต้ต้นไม้ จากนั้นนำขอเกี่ยวคอเสื้อผู้ทำพิธีและดึงกลับบ้านพอเป็นพิธี การทำพิธีส่งสัมภาระ และข้าวของให้ศพนี้ มีความหมายว่า ในโลกหน้าวิญญาญจะต้องกลับไปทำมาหากินเช่นเดียวกับชีวิตในโลกนี้ จึงต้องมีการมอบสัมภาระ และข้าวของให้ มิเช่นนั้นจะลำบาก ไม่มีข้าวของ และเครื่องใช้ในการทำมาหากิน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพิธีเเบบดั้งเดิมมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย เช่น เสื่อตีข้าวที่ใช้ห่อศพได้มีการเปลี่ยนมาใช้เป็นโลงศพเเทน การขับลำนำมีน้อยลง ย่นระยะเวลาและขั้นตอนต่างๆลงไป

สำหรับกะเหรี่ยงที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ หลายชุมชนยังคงเชื่อและนับถือผีตามความเชื่อดั้งเดิมแม้เปลี่ยนศาสนา

หมายเหตุ ภาพจากงานศพ ‘ปู่คออี้’ กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย แก่งกระจาน เพชรบุรี

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image