ความแตกต่างระหว่างบุคคล : กลวิธีสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ความแตกต่างระหว่างบุคคล หรือตรงกับคำว่า Individual difference หากจะเปรียบเทียบกับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า “ความแตกต่างระหว่างบุคคล” มีความหมายใกล้เคียงกับข้อความที่พระองค์บัญญัติไว้ว่า “ปัจจัตตังเวทิตัพโพวิญญูหิติ” ซึ่งมีความหมายว่าผู้รู้พึงรู้ได้เฉพาะตน ผู้ปฏิบัติพึงรู้ คนอื่นรู้ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น นายดำกินอาหาร แล้วรู้ว่าอาหารนั้นมีรสชาติอร่อยทั้งเปรี้ยว-หวาน-มัน-เค็ม เมื่อชิมดูแล้วน่ากิน แต่คนอื่นที่ไม่ได้กิน เขาก็จะไม่รับรู้ว่าอาหารมีรสชาติเช่นไร ซึ่งเท่ากับว่า ไม่รู้จริง ไม่ได้สัมผัสจริง ไม่ได้ลิ้มรสจริงสรุปได้ว่านายดำเป็นผู้พึงรู้ได้เฉพาะตน

1.แนวความคิดเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคล

นักวิชาการได้ให้แนวความคิดเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคลไว้ดังนี้

1.1 องค์ประกอบสำคัญในตัวเด็ก ได้แก่ บุคลิกลักษณะ (Characteristic), สติปัญญา (Intelligence), การรับรู้ (Perception), เพศ (gender), ความสามารถ (ability) และแบบของการเรียนรู้ (Learning styles) ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวเป็นสิ่งที่ครูควรพิจารณาเพื่อประกอบการเรียนการสอน

Advertisement

1.2 ความแตกต่างระหว่างบุคคลให้พิจารณา รวมถึง ก) พุทธิปัญญา (Cognitive), ข) Affective (จิตพิสัย, คุณธรรม, ความรู้สึกซาบซึ้ง) และ ค) พฤติกรรมและหรือลักษณะของพันธุกรรม (Genetic traits) หรือสรุปได้ว่า ความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นผลมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

1.3 การสอนแบบ Differentiated Instruction เป็นเรื่องเดียวกันกับการสอนที่ยึดความแตกต่างระหว่างบุคคล การสอนแบบ Differentiated Instruction มุ่งเน้นการจัดบรรยากาศการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสามารถ ตามความถนัด ตามความสนใจ และตามความพร้อม ที่สำคัญครูต้องมีทักษะในการสอนและเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมให้นักเรียน อย่างไรก็ตาม ครูผู้สอนต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีแรงบันดาลใจที่สูงสุด ตลอดจนทำงานเป็นแบบอย่างที่ดี (Role model)

2.ทฤษฎีการเรียนการสอนที่ยึดความแตกต่างระหว่างบุคคล

Advertisement

2.1 บัว 4 เหล่า: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบบุคคลที่ได้รับการสอนจากพระองค์เหมือนบัว 4 เหล่า ดังนี้คือ
2.1.1 อุคฆติตัญญู: ได้แก่ ผู้มีภูมิปัญญาที่สามารถเรียนรู้และเข้าใจในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ได้ทันที เปรียบเสมือนดอกบัวที่เจริญเติบโตเต็มที่ ผลิดอกเหนือน้ำเตรียมบานได้เร็วไวเมื่อได้รับแสงอาทิตย์ยามเช้า
2.1.2 วิปจิตัญญู: ได้แก่ ผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ เมื่อมีการอธิบายขยายความเพิ่มเติมเปรียบเสมือนดอกบัวที่ชูก้าน มาถึงระดับพื้นน้ำ รอที่จะโผล่พ้นน้ำในวันรุ่งขึ้น และเตรียมบานเมื่อได้รับแสงจากพระอาทิตย์
2.1.3 เนยยะ: ผู้ที่เรียนรู้ธรรมโดยอาศัยความเพียรพยายามอย่างเต็มที่ ทั้งด้วยการฟัง การคิด การถามและการท่องจนจำได้ขึ้นใจ เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ต้องการเวลาโผล่ขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อเบ่งบานในโอกาสต่อไป
2.1.4 ปทปรมะ: ได้แก่ ผู้ซึ่งไม่อาจเรียนรู้และเข้าใจในพระธรรมได้ แม้จะฟัง คิดและท่องบ่น อย่างไรก็ตาม เปรียบเสมือนบัวที่ติดอยู่ในโคลนตม นานๆ เข้าบัวประเภทนี้จะเป็นอาหารของเต่า ปู ปลา ต่อไป
หากจะเปรียบเทียบกับ I.Q. ของคนกับบัว 4 เหล่าแล้ว ขอให้พิจารณาจากตารางข้างล่าง

2.2 ทฤษฎีการเรียนรู้ที่ยึดความแตกต่างระหว่างบุคคล
เสาวนีย์ สิกขาบัณฑิต (2528) แบ่งทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล ออกเป็น 7 ประการ คือ2.2.1 ยึดหลักความสามารถ (ability)
2.2.2 ยึดหลักความต้องการ (Needs)
2.2.3 ยึดหลักสติปัญญา (Intelligence)
2.2.4 ยึดหลักความสนใจ (Interesting)
2.2.5 ยึดหลักความแตกต่างด้านร่างกาย (Physical difference)
2.2.6 ยึดหลักอารมณ์ (Emotion)
2.2.7 ยึดหลักด้านสังคม (Social)

3. กลวิธีสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

3.1 สอนใคร?: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน *”นางกีสาโคตามี”* เรื่องมีอยู่ว่านางกีสาโคตามีเดิมมีฐานะร่ำรวยเป็นเศรษฐี ต่อมายากจน เขามีลูกชายคนหนึ่งแต่กลับมาตาย นางกีสาโคตามีเสียใจร่ำไห้จนสติฟั่นเฟือน ไม่ยอมให้ใครมาเผาศพของลูกชาย คิดเข้าข้างตัวเองว่า ลูกของตนยังไม่ตาย เพียงแต่สลบไปเท่านั้น นางกีสาโคตามีเที่ยวเสาะหาคนที่จะทำให้ลูกชายฟื้นคืนชีวิตได้ มีคนแนะนำให้ไปหา (เข้าเฝ้า) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ซึ่งประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร นอกเมืองสาวัตถี พระองค์บอกให้นางไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจำนวนหนึ่งกำมือ โดยเมล็ดผักกาดนั้นจะต้องนำมาจากบ้านเรือนของคนที่ไม่มีใครตายเมื่อได้มาแล้วพระพุทธองค์จะใช้ทำยารักษาลูกของนางกีสาโคตามี

นางเที่ยวตะเวนหาเมล็ดผักกาดในบ้านที่ไม่มีคนตาย จนในที่สุดนางก็หาไม่ได้ ทำให้คิดว่าความตายเป็นสัจธรรมของชีวิต เมื่อเกิดก็ต้องมีดับไปเป็นธรรมดา ทำให้นางยอมรับว่าลูกชายได้ตายไปแล้ว ไม่มีใครทำให้ฟื้นคืนชีพได้

3.2 สอนอย่างไร? : ทรงใช้กลวิธีสอนที่ให้ผู้เรียนลองลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง แสวงหาข้อมูลจากของจริง และผู้เรียนสรุปผลการเรียนด้วยตนเอง วิธีนี้อาจเรียกว่า learning by doing หรือเรียนรู้ด้วยตนเอง

3.3 ผลที่ได้รับ : หลังจากได้ฟังธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว นางกีสาโคตามีได้บรรลุพระอรหัตผล

4. กลวิธีสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ต่อ)

4.1 สอนใคร? : พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน *”พระจูฬปันถก”* ดังจะนำเสนอเรื่องของพระจูฬปันถก ดังนี้ พระจูฬปันถกเป็นพี่น้องร่วมบิดา และมารดาเดียวกับพระมหาปันถก (พี่ชาย) พี่ชายบวชมานานแล้ว และบรรลุเป็นพระอรหันต์ จึงพยายามเคี่ยวเข็ญให้น้องชายบวชเช่นกับตน แต่พระจูฬปันถกเป็นผู้ที่มีปัญญาทึบ เมื่อนานวันเข้า พระจูฬปันถกถูกพี่ชายดูหมิ่นเหยียดหยาม และไล่ออกจากสำนัก (วัด) จูฬปันถกน้อยใจจึงหนีกลับไปอยู่บ้านเดิม โดยตั้งใจจะลาสิกขาเป็นฆราวาส เพราะเข้าใจว่าตนเองเป็นอาภัพบุคคล ไม่สามารถบรรลุโลกุตรธรรมได้

เมื่อพระจูฬปันถกเดินทางไปบ้าน จึงได้พบพระพุทธเจ้า พระองค์ถามว่าจะลาสิกขาบททำไม เธอมิได้บวชเพื่อพี่ชาย แต่บวชเพื่อตถาคต เมื่อพี่ชายไล่ ทำไมไม่มาหาตถาคต การกลับไปครองเรือนจะได้ประโยชน์อะไร พระพุทธองค์จึงหยิบผ้าขาวบริสุทธิ์ผืนเล็กยื่นให้แก่จูฬปันถก แล้วให้บริกรรมด้วยคาถาว่า “รโชหรณัง” พระจูฬปันถกท่องบริกรรมคาถาดังกล่าว แล้วเอามือลูบคลำ แล้วเจริญวิปัสสนา ในที่สุดผ้าที่มีสีขาว และเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำดูเศร้าหมอง พระพุทธองค์ได้เปรียบเทียบให้เห็นว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เปรียบเสมือนผ้าแต่เดิมสีขาวสะอาด ลูบคลำนานๆ เข้าก็กลายเป็นสีดำ” ในขั้นสุดท้ายพระจูฬปันถกก็บรรลุพระอรหัตผล (คือธรรมที่พระอรหันต์บรรลุ) พร้อมด้วยปัญญาอันแตกฉาน

4.2 สอนอย่างไร? : พระพุทธองค์ใช้วิธีสอนโดย ก) คำพูดชักจูงให้คนเปลี่ยนใจหรือความคิด ดังที่ว่า “เธอมิได้บวชเพื่อพี่ชาย แต่บวชเพื่อตถาคต” และ “ไปครองเรือนแล้วจะได้อะไร” ข) ทดลองปฏิบัติจริงให้ลูกคลำผ้าขาวจนมีสีดำคล้ำ แล้วสรุปว่า “สังขารไม่เที่ยง” (สังขาร หมายถึงตัวตน ร่างกาย สิ่งประกอบและปรุงแต่งขึ้นเป็นร่างกาย เป็นจิตใจรวมกันเช่น สังขารไม่เที่ยง หรือสังขารคือความคิดเป็นขันธ์หนึ่งในขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ) เสมือนผ้าสีขาวลูกคลำหลายครั้งเป็นเวลานาน ผ้าผืนขาวก็เปลี่ยนเป็นสีดำดูหม่นหมอง

4.3 ผลที่ได้รับคืออะไร? : พระจูฬปันถกได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปัญญาอันแตกฉาน 4 ประการ คือ ก) ปัญญาอันแตกฉานใน “ปฏิภาณ” คือความสามารถในการแก้สถานการณ์ที่เกิดเหตุฉุกเฉินได้ หรือกล่าวโต้ตอบได้ทันที ข) ปัญญาแตกฉานใน “อรรถ” คือความเข้าใจที่สามารถคาดหมายผลข้างหน้า อันจะเกิดสืบเนื่องไปจากเหตุอย่างหนึ่งก็สามารถคิดแยกแยะกระจายเชื่อมโยงออกไปได้ จนล่วงรู้ถึงเหตุผล ค) ปัญญาอันแตกฉานใน “ธรรม” คือ ความเข้าใจสาวหาเหตุในหนหลัง ความเข้าใจถือเอาใจความแห่งการอธิบายนั้นๆ มาตั้งเป็นกระทู้ หรือหัวข้อขึ้นได้และ ง) ปัญญาอันแตกฉานใน “ภาษา” คือความเข้าใจในภาษา รู้จักใช้ถ้อยคำพูดให้คนเข้าใจ รู้ภาษาต่างๆ อาจชักนำคนให้เชื่อถือหรือนิยมตามคำพูดอาจกล่าวสั้นๆ ว่าเข้าใจพูดนั่นเอง

5.สรุป

กลวิธีสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการนำเอาหลักของความแตกต่างระหว่างบุคคลมาใช้ หลักทฤษฎีที่สำคัญของพระองค์ คือ เปรียบเทียบผู้เรียนเสมือนบัว 4 เหล่าได้แก่ 5.1) บัวพ้นน้ำ 5.2) บัวปริ่มน้ำ 5.3) บัวใต้น้ำ และ 5.4) บัวที่อยู่ในโคลนตม

บัวประเภทที่ 1 บัวพ้นน้ำ (อุคฆติตัญญู) ได้แก่ ผู้เรียนที่มีสติปัญญาเลิศและเหนือค่าเฉลี่ยมี I.Q. เท่ากับ 130-144 และ 115-129 ตามลำดับ

บัวประเภทที่ 2 บัวปริ่มน้ำ (วิปจิตัญญู) ได้แก่ ผู้เรียนที่มีสติปัญญาสูงกว่าค่าเฉลี่ย มี I.Q.เท่ากับ 100-114

บัวประเภทที่ 3 บัวใต้น้ำ (เนยยะ) ได้แก่ ผู้เรียนที่มีสติปัญญาค่อนข้างต่ำและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมี I.Q. เท่ากับ 85-99 และ 70-80 ตามลำดับ

บัวประเภทที่ 4 บัวอยู่ในโคลนตม (ปทปรมะ) ได้แก่ ผู้เรียนที่มีสติปัญญาคาบเส้นและต่ำมี I.Q. เท่ากับ 55-69 และน้อยกว่า 55 ตามลำดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image