เปิดตัว 11 สถาบันผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น1 เตรียมอัตรารองรับ แก้ปัญหาขาดแคลนครู

เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่อาคารอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ 11 สถาบันอุดมศึกษา ลงนามร่วมเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่น พร้อมประชุมเชิงปฏิบัติการ “ร่วมมือ ร่วมใจ สร้างครูรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่น” น.ส.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กสศ. และ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้ดำเนินการคัดเลือกและประกาศรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาและหลักสูตรที่ผ่านการพิจารณาให้เป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 จำนวน 11 แห่ง  ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ผ่านมา ประกอบด้วยหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 7 แห่ง ได้แก่  มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี หลักสูตรการประถมศึกษา 4 แห่ง ได้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร , มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา   ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2563 สถาบันอุดมศึกษาทั้ง 11 แห่ง มีความพร้อมรับนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นได้ทั้งสิ้น 328 อัตรา  และจะมีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล จำนวน 282 แห่ง ที่อยู่ในรัศมีพื้นที่การบรรจุอัตราครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1  ของทั้ง 11 สถาบัน

​“สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลจำนวน 282 แห่งในรัศมีของทั้ง 11 สถาบัน ถือเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ยุบรวมไม่ได้ เป็นจิตวิญญาณของชุมชน  กสศ.ได้จัดให้มีทีมวิชาการช่วยพัฒนาทั้งด้านคุณภาพการเรียนการสอน การเตรียมความพร้อมของโรงเรียนทั้งระบบควบคู่กันไปด้วยตั้งแต่ในปีแรกนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการและรองรับการทำงานของครูรุ่นใหม่ได้ตามเป้าประสงค์ของโครงการนี้ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจเพื่อปฏิรูปการศึกษา โดยโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นในรุ่นต่อไป กสศ. จะมีการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ให้แก่นักเรียนกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.ปลาย” น.ส.ดารณี

“ตลอดช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนนี้ อาจารย์จาก 11 สถาบัน ร่วมกับโรงเรียนและชุมชนจะคัดเลือกและคัดกรองนักเรียนในพื้นที่มีฐานะครอบครัวอยู่ในเกณฑ์ยากจนตามที่กสศ.กำหนด ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าที่มีศักยภาพในการเรียนรู้และอยากเป็นครู  มีภูมิลำเนา อยู่เขตตำบลที่ตั้งของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล 282 แห่งในรัศมีที่ใกล้กับ 11 สถาบันที่มีการเรียนการสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6   และมีเกรดเฉลี่ยสะสม 5 ภาคเรียนไม่ต่ำกว่า 2.5 เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมสอบคัดเลือกทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น  ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมได้ที่ www.eef.or.th หรือโทร 02 079 5475” น.ส.ดารณี กล่าว

ด้านนายสุทิน แก้วพนา  ผู้ช่วยปลัดศธ. กล่าวว่า  กระบวนการค้นหาคัดกรองนักเรียนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการผลิตครู ถ้าเราไม่ได้เด็กในพื้นที่เป้าหมายจริงๆ ถึงแม้การผลิตครูจะมีคุณภาพแต่ในระยะยาว ครูเหล่านี้ก็จะไม่ได้อยู่กับโรงเรียน  ทั้งนี้พื้นที่กลุ่มเป้าหมายของ 11 สถาบัน ครอบคลุมนักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ที่ผ่านมาโรงเรียนเหล่านี้ จะมีปัญหาเรื่องการบรรจุครู พอครบ 4 ปี ครูที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ก็ขอย้ายกลับภูมิลำเนา เป็นปัญหาการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ขาดความต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนห่างไกลด้อยโอกาสกลายเป็นโรงเรียนฝึกหักครู  เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลได้ครูที่ไม่พร้อมเต็มที่มาสอนตลอด

Advertisement

นายชาตรี มณีโกศล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 1ใน11 สถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น   กล่าวว่า การออกแบบการเรียนสอนเพื่อรองรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จะผสมผสานให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรง ผ่านการเรียนหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้งานวิจัย การใช้โครงงาน การใช้สถานประกอบการเป็นฐานการเรียนรู้ โดยการเรียนการสอนตามแนวทางนี้จะทำให้นักศึกษามีโอกาสได้เรียนทั้งทฤษฏี งานวิจัยที่มีการปรับปรุงให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบันและการปฏิบัติที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image