ปธ.สภาคณบดีครุศาสตร์ชี้ รมว.อุดมฯ เข้าใจบทบาท ม.ราชภัฏคลาดเคลื่อน

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา และประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ (สครภ) เปิดเผยว่า กรณีที่นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า มรภ.ไม่มีองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านการผลิตครู และยังเสนอให้ มรภ.ผลิตครูเพื่อดูแลผู้สูงวัย และเลิกผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษานั้น กรณีนี้อาจส่งผลทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่นในจัดการศึกษาของ มรภ.ในภาพรวมได้ คิดว่านายสุวิทย์คงยังไม่ทราบ และเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลายประเด็น ก่อนเป็น มรภ.เคยเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และพัฒนามาเป็น มรภ.ในปัจจุบัน หลายแห่งมีอายุกว่าร้อยปี ดังนั้น ด้านองค์ความรู้ และประสบการณ์ คงไม่แตกต่างจากสถาบันอื่น ด้านคุณภาพบัณฑิตนั้น มีศิษย์เก่า มรภ.ที่ประสบผลสำเร็จ มีผลงานโดเด่นเป็นที่ประจักษ์มากมาย และมีจำนวนบัณฑิตของบางสถาบันที่สอบบรรจุเข้าโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ รวมถึง การสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

“ปัจจุบัน มรภ.ยังผนึกกำลังความร่วมมือด้านการผลิต และพัฒนาครู โดยกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ มรภ. 20 ปีในการผลิตครูคุณภาพเป็นเลิศ โดย มรภ.ทั่วประเทศร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรครู 4 ปี ฐานสมรรถนะ มีโครงการความร่วมมือในการจัดการศึกษากับหลายหน่วยงาน ส่วนด้านการดูแลผู้สูงวัยนั้น มรภ.ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็งอยู่แล้ว” ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าว

ผศ.ดร.รัฐกรณ์กล่าวอีกว่า ประเด็นที่นายสุวิทย์เสนอให้ มรภ.เลิกผลิตบัณฑิตปริญญาโท และเอก โดยอ้างระบบงบประมาณนั้น การจัดการศึกษาในระดับดังกล่าว รัฐไม่ได้ให้การสนับงบรายหัวให้นักศึกษาอยู่แล้ว สิ่งที่อยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลคือ สนับสนุนรายหัวสำหรับการผลิตครูระดับปริญญาตรีทุกสาขา หัวละ 800 บาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับสายวิทย์ที่หัวละ 3,000-6,000 บาท ทั้งที่ผลิตครูสาขาวิทยาศาสตร์ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่แตกต่างกัน ส่วนที่จะให้ มรภ.เลิกผลิตบัณฑิตปริญญาโท และเอก แต่ให้มหาวิทยาลัยอื่นลดการผลิตบัณฑิตปริญญาตรีนั้น คิดว่าแต่ละมหาวิทยาลัยต่างมี พ.ร.บ.จัดตั้งของตัวเอง ซึ่งแต่ละสถาบันจะผลิตบัณฑิตระดับใด สาขาใด ก็ทำได้ ส่วนการผลิตบัณฑิตปริญญาโท และเอกของ มรภ.นั้น มีหลายสาขายังจำเป็นในการพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรด้านอื่นๆ ให้มีความรู้ความสามารถสูงขึ้น โดยมีคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) คอยกำกับติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image