จี้คุรุสภายกเลิกเกณฑ์ประเมินปฏิบัติการสอนเดิมก่อนประกาศหลักเกณฑ์ใหม่

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา และประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ (สครภ) เปิดเผยว่า จากที่เคยเรียกร้องให้คุรุสภารีบดำเนินการออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การรับรองปริญญาตามมาตรฐานวิชาชีพ หลักสูตรครู 4 ปี เนื่องสถาบันต่างๆ ได้เปิดรับนักศึกษา และเปิดสอนไปแล้ว แต่คุรุสภายังไม่ออกประกาศดังกล่าวนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ คุรุสภาได้จัดสัมมนาเพื่อวิพากษณ์ร่างประกาศคุรุสภา เรื่องหลักเกณฑ์การรับรองปริญญาตามมาตรฐานวิชาชีพ หลักสูตรครู 4 ปี พ.ศ. … โดยมีตัวแทนสถาบันผลิตครูทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 100 แห่งนั้น ร่างประกาศดังกล่าวยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน และอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น การกำหนดให้หลักสูตรที่สถาบันเสนอขอรับรอง ต้องเป็นหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบ หรือได้รับการอนุมัติจากสภาสถาบัน และได้รับทราบจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยให้ดำเนินการรับรองปริญญาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะกว่าสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะรับทราบหลักสูตร ก็เกิน 180 วันแล้ว ที่สำคัญมีหลายหลักสูตรที่นักศึกษาเรียนจบแล้ว แต่ สกอ.กลับไม่รับทราบ ทำให้นำวุฒิการศึกษาไปใช้ไม่ได้ และกำลังจะมีการฟ้องร้องจากนักศึกษาหลายแห่ง ดังนั้น หากรอให้ สกอ.รับทราบหลักสูตรก่อน จึงจะยื่นขอรับรองปริญญาจากคุรุสภาได้นั้น จะทำให้มีปัญหาในการรับนักศึกษาอย่างแน่นอน

ผศ.ดร.รัฐกรณ์กล่าวต่อว่า สถานที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาต้องได้รับความเห็นชอบ หรืออนุมัติจากสภาสถาบัน ประเด็นนี้ไม่ชัดเจนเรื่องสถานที่ว่าหมายถึงอะไร และมีอีกหลายประเด็นมีการกำหนดซ้ำซ้อนกับมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี (มคอ.1) สาขาครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี เช่น หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักสูตรผลิตครู ทักษะภาษาอังกฤษ กิจกรรมเสริมความเป็นครู เป็นต้น แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือการออกประกาศคุรุสภาเรื่องการรับรองปริญญาตามมาตรฐานวิชาชีพครู จะเป็นหลักสูตร 4 ปี หรือ 5 ปี คุรุสภาล้วนต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 โดยเฉพาะ มาตรา 44(3) ที่ระบุ ผู้ที่จะขอรับใบประกอบวิชาชีพครูจะต้องผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด

“ดังนั้น หากคุรุสภาจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในส่วนของการประเมินปฏิบัติการสอนใหม่ ควรยกเลิกหลักเกณฑ์เดิม หรือเปิดโอกาสให้หลักสูตร 5 ปี ที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติการสอนเต็มรูปแบบ 2 ภาคเรียน ขณะที่หลักสูตร 4 ปีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ภาคเรียน สามารถใช้หลักเกณฑ์ใหม่ได้ด้วย สำหรับหลักเกณฑ์ส่วนอื่นๆ นั้น คงต้องกำหนดตาม มคอ.1 ของแต่ละหลักสูตร ซึ่งอาจแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวคิดว่าคุรุสภาคงจะนำข้อคิดเห็น ปัญหา และข้อเสนอแนะจากตัวแทนสถาบันผลิตครูที่เข้าร่วม ไปปรับแก้ก่อนที่จะประกาศใช้” ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image