กรมศิลปากรลั่นใครขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาโลก ไม่สำคัญเท่าร่วม’อนุรักษ์-แบ่งปันชื่นชม’

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ห้องประชุม 1 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายธีรภัทร์ ทองนิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กล่าวในงานเสวนา เรื่องโขน : รามายนะ มรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมร่วมอาเซียน ว่า โขนมีต้นกำเนิดจากการละเล่น 3 อย่าง คือ หนังใหญ่ การละเล่นกระบี่กระบอง และการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ดึงลักษณะเด่นของการละเล่นแต่ละอย่างมาพัฒนาเป็นโขน โดยมีประวัติย้อนไปถึงสมัยสุโขทัย และพัฒนารูปแบบการเล่นมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อยากย้ำว่าการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญากับยูเนสโกนั้นไม่ใช่สิทธิบัตร หรือลิขสิทธิ์ ใครขึ้นทะเบียนไปแล้ว ประเทศอื่นก็สามารถขึ้นทะเบียนได้อีก

นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมและภาษา กรมศิลปากร กล่าวว่า คนไทยรู้จักพระรามมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ละยุคสมัยจะมีเรื่องเกี่ยวกับรามเกียรติ์อยู่ในคติความเชื่อและวรรณกรรมต่างๆ และมีหลักฐานบันทึกว่าการเล่นโขนมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีคำพากย์รามเกียรติ์ 9 ภาค ซึ่งเอาไว้พากย์โขนและหนังใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคนี้มีวัฒนธรรมหลายอย่างคล้ายคลึงกัน เช่น มโนราห์ ก็มีเล่นตั้งแต่มณฑลยูนนานของจีน สิบสองปันนา กัมพูชา ลาว และไทย หรืออย่างพระรถเมรี ในกัมพูชาและพม่าก็มีสิ่งเหล่านี้ คือ สมบัติร่วมสืบทอดกันในภูมิภาค ฉะนั้นประเด็นว่าใครจะเป็นผู้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกับยูเนสโกนั้น ไม่สำคัญเท่ากับว่าประเทศเจ้าของมรดกนั้นจะรู้จักอนุรักษ์สานต่อคุณค่านี้ไว้อย่างไร และควรมีการแบ่งปันชื่นชมด้วย เพราะถือว่าเป็นสมบัติของมนุษยชาติ โขนก็เช่นกัน อย่าไปตีความจนทะเลาะกัน แต่ควรร่วมมือกันในการอนุรักษ์

เสวนาโขน (2)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image