สพฐ.ปรับเกณฑ์รับน.ร.ปี’63 หลัง เสมา1 ติงร.ร.ดัง ‘สอบ100%’ ละเอียดอ่อน

แฟ้มภาพ

สพฐ.ปรับเกณฑ์รับน.ร.ปี’63 หลังเสมา1ติงร.ร.ดัง’สอบ100%’ละเอียดอ่อน

เมื่อวันที่ 17 กันยายน นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้พิจารณาร่างนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2563 แล้ว ภาพรวมเห็นด้วย เหลืออีก 15% ขอให้สพฐ.กลับไปทบทวนให้รอบคอบนั้น ส่วนตัวคิดว่านายณัฏฐพล ไม่ได้ติงข้อเสนอให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง รับนักเรียนด้วยวิธีการสอบ 100% เพราะเท่าที่ได้มีการหารือเบื้องต้น นายณัฏฐพล เห็นด้วยกับแนวทางที่ให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงหรือโรงเรียนที่มีศักยภาพ รับนักเรียนด้วยวิธีการสอบ 100% เพื่อให้โรงเรียนได้พัฒนาเด็กได้เต็มศักยภาพ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานให้เด็กทุกคนมีที่เรียน โดยเท่าที่ดู รัฐมนตรีว่าการศธ. น่าจะกังวลกรณีการกระจายอำนาจให้พื้นที่ ดำเนินการรับนักเรียนเอง เพราะอาจเกิดปัญหาในอนาคต

“เท่าที่มีการพูดคุยกับโรงเรียนดังในกรุงเทพฯ อาทิ โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เห็นด้วยที่ให้โรงเรียนที่มีศักยภาพ รับเด็กด้วยวิธีการสอบ 100% เพราะจะแก้ปัญหาได้หลายเรื่อง ทั้งทำให้โรงเรียนสามารถพัฒนาเด็กที่มีศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันแก้ปัญหาการรับเงินเพื่อแลกที่นั่งเรียน หรือแป๊ะเจี๊ยะโดยการดำเนินการทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานให้เด็กทุกคนมีที่เรียน เด็กในพื้นที่บริหารที่ไม่สามารถสอบเข้าเรียนได้ ก็ต้องมีที่เรียน ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ อย่างไรก็ตามการรับเด็กด้วยวิธีการสอบเข้า 100% ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย หรือโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ตรงนี้เป็นเพียงการผลักดันให้มีโรงเรียนที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น” นายเอกชัยกล่าว

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการประชุม กพฐ. เมื่อเร็ว ๆ นี้ไม่ได้มีการพูดเรื่องเกณฑ์การรับนักเรียน เพราะนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กพฐ. ขอถอนเรื่องออก คิดว่าคงไปทบทวนให้รอบคอบ ดูรายละเอียดตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการศธ. ทั้งนี้การประกาศเกณฑ์รับนักเรียนล่าช้า เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา หากไม่ไปกระทบสิทธิของเด็ก คาดว่าน่าจะประกาศอย่างเป็นทางการได้ภายในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ที่ประชุมกพฐ.ยังหารือแนวการเรียนการสอนของเด็กพิเศษ ซึ่งกพฐ. ยังไม่เคยมีการหารือเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ และเห็นว่าควรมีการดูแลให้สอดคล้องกับทางการแพทย์ โดยปัจจุบันมีการเรียนร่วมในบางโรงเรียน ปัญหาคือ เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย อาจเรียนไม่ทันเพื่อน บางโรงเรียนมีครูสอนประกบ ยกตัวอย่าง กรณีเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ก็จะมีครูที่สอนภาษามือประกอบเด็กเป็นรายบุคคล แต่โรงเรียนของสพฐ.ไม่มี ดังนั้นจึงคิดว่าอนาคต การสอนเด็กพิเศษอาจจำเป็นต้องมีครูที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านประกอบด้วย

ด้านนายสุเทพ กล่าวว่า หลังจากที่สพฐ. เสนอร่างนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียน สังกัดสพฐ. ปีการศึกษา 2563 ต่อนายณัฏฐพล แต่รัฐมนตรีแจ้งว่าเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ 85% แต่ยังมีอีก 15% ที่มอบให้ สพฐ.ไปปรับแก้ เช่น การกำหนดให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ลงนามในคำสั่งประกาศต่างๆ เพื่อความชัดเจน ส่วนหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีเห็นด้วยในหลักการ คือเรื่องการกระจายอำนาจสู่พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เพื่อให้มีบทบาทในการบริหารจัดการ เหลือบางประเด็นที่ สพฐ.ต้องไปปรับปรุงให้ชัดเจน

Advertisement

“ส่วนเรื่องการกำหนดให้โรงเรียนดัง หรือโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง รับนักเรียนด้วยการสอบ 100% นั้น เป็นเรื่องของพื้นที่ในการบริหารจัดการ ซึ่งรัฐมนตรีให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผมจึงตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียดเรื่องที่รัฐมนตรีแนะนำกรณีให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงรับนักเรียนด้วยการสอบ 100% อีกครั้ง และจะเสนอให้นายณัฏฐพล พิจารณา หากไม่มีข้อท้วงติงอะไร จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้น (กพฐ.) ในเดือนตุลาคม และพร้อมประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2563 ต่อไป เชื่อว่าจะประกาศทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด” นายสุเทพ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image