เร่งยกเครื่องจรรยาบรรณครู ‘กมว.’ เล็งเอาผิดครูเปิดสอนพิเศษ

เร่งยกเครื่องจรรยาบรรณครู ‘กมว.’ เล็งเอาผิดครูเปิดสอนพิเศษ

เมื่อวันที่ 19 กันยายน นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กมว.วันที่ 4 ตุลาคมนี้ ที่ประชุมจะหารือเรื่องหลักสูตรพัฒนาความเป็นครู ของผู้ที่ไม่ได้เรียนปริญญาทางการศึกษา ที่จะมาแทนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต ที่ถูกยกเลิกไปโดยให้สอนปีการศึกษา 2562 เป็นปีสุดท้ายว่าต้องทำออกมาเป็นประกาศคุรุสภาให้ชัดเจน เพื่อเสนอที่ประชุมคุรุสภา ที่มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุม กมว.จะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษาและพัฒนาหลักสูตรพัฒนาความเป็นครู ว่ารายละเอียดการเรียนการสอน หลักสูตร ชั่วโมงการเรียน และการปฏิบัติการสอน ควรจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งทุกอย่างจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อให้มหาวิทยาลัยนำหลักสูตรพัฒนาความเป็นครูไปใช้ในปีการศึกษา 2563

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่พยายามเร่งดำเนินการคือ การยกเครื่องจรรยาบรรณวิชาชีพครูให้ทันภายในสิ้นปีนี้ ให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการสอบสวนทางจรรยาบรรณอยู่ระหว่างการปรับแก้เกณฑ์ลงโทษครูที่กระทำความผิดทางจรรยาบรรณ เพราะตนมองว่าถึงเวลาแล้วที่การพิจารณาความผิดทางจรรยาบรรณต้องปรับปรุงใหม่ให้มีความทันสมัย โดยคณะอนุกรรมการสอบสวนทางจรรยาบรรณจะไปรวบรวมรายละเอียด ผลการพิจารณาโทษที่มีการลงโทษกันไปแล้วว่าพฤติกรรมใดมีการลงโทษอย่างไร เพื่อกำหนดการลงโทษให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

นายเอกชัย กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นการลงโทษครูที่กระทำอนาจาร ล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน และชู้สาว ไม่ควรมีโทษพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ควรที่จะเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้น และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอีกเรื่องคือ การใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานแสวงหาประโยชน์ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ควรมีบทลงโทษเรื่องนี้ให้ชัดเจนว่าถ้าพบครูที่นำตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาประโยชน์ควรจะพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต

“ถ้าเราเขียนจรรยาบรรณให้ดี ต่อไปการพิจารณาจรรยาบรรณจะง่ายขึ้น เดิมที่กำหนดจรรยาบรรณต่อตนเอง จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการแยกไว้อย่างชัดเจน ซึ่งในความจริงสามารถกำหนดจรรยาบรรณที่ครอบคลุมทั้งหมดได้ เช่น กำหนดไว้ว่าไม่ควรแสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม ซึ่งข้อนี้ครอบคลุมต่อตนเองและผู้รับบริการด้วย เพราะปัจจุบันครูบางรายเปิดสอนพิเศษให้กับนักเรียนที่ตัวเองสอนในชั้นเรียน การกระทำลักษณะนี้มองว่าผิดจรรยาบรรณ เพราะครูกำลังใช้ตำแหน่งหน้าที่ให้นักเรียนไปเรียนพิเศษด้วย ซึ่งครูทำเยอะมาก และผู้ปกครองก็พูดไม่ออก ดังนั้นต่อไปจรรยาบรรณครูควรจะกำหนดหลักเกณฑ์อย่างกว้างๆ และครอบคลุมให้ง่ายต่อการพิจารณา” นายเอกชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image