หลอดลมอักเสบเฉียบพลันและปอดอักเสบโรคที่มากับฝน โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis) : แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน และหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดเฉียบพลัน หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งมักพบหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่

สาเหตุ : ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งจะมีอาการไอมีเสมหะขาว บางครั้งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะไอมีเสลดสีเหลืองหรือเขียว นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการถูกสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการเรื้อรังได้

อาการ : มีอาการไอ ซึ่งจะเป็นมากตอนกลางคืน บางรายอาจไอมากจนนอนไม่เพียงพอ ระยะแรกจะไอแห้งๆ อาจมีเสียงแหบ และเจ็บหน้าอกเพราะไอมาก 4-5 วัน ต่อมาจะมีเสมหะเหนียวเป็นสีขาว (เชื้อไวรัส) หรือขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือเขียว (เชื้อแบคทีเรีย) ในเด็กอาจไอจนอาเจียน อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีก็ได้ บางรายอาจมีอาการหอบหืดร่วมด้วย เรียกว่า หืดจากหลอดลมอักเสบ (asthmatic bronchitis)

สิ่งตรวจพบ : ส่วนมากจะไม่พบสิ่งผิดปกติ บางรายอาจมีไข้ การใช้เครื่องฟังตรวจปอด อาจได้ยินเสียงหายใจหยาบ (coarse breath sound) หรือมีเสียงอี๊ด (rhonchi) ในรายที่มีอาการหอบหืดร่วมด้วย การใช้เครื่องฟังปอดอาจได้ยินเสียงวี้ด (wheezing)

Advertisement

อาการแทรกซ้อน : โรคนี้มักหายได้ภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หลอดลมโป่งพอง

การรักษา : 1.แนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มากขึ้น อย่าตรากตรำงานหนัก ควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ (วันละ 10-15 แก้ว) เพื่อช่วยให้เสมหะออกได้ง่ายขึ้น ไม่ควรดื่มน้ำเย็น น้ำแข็ง ของทอด หรือของมันๆ อาจทำให้ไอมากขึ้น ควรงดสูบบุหรี่ อย่าอยู่ในที่ที่มีอากาศเสียหรือฝุ่นละอองมาก 2.ถ้าไอมากอาจให้ยาขับเสมหะ เช่น มิสต์แอมมอนคาร์บ (หากไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องให้ หรือให้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาวก็ได้) ไม่ควรให้ยาแก้ไอชนิดระงับการไอ หรือยาแก้แพ้ เพราะจะทำให้เสลดเหนียวขากออกยาก และเสมหะอาจอุดกั้นหลอดลมเล็กๆ ทำให้ปอดบางส่วนแฟบได้

3.ถ้ามีอาการไอจนรู้สึกหอบเหนื่อย หรือใช้เครื่องฟังปอดได้ยินเสียงวี้ด ให้ยาขยายหลอดลม 4.ยาปฏิชีวนะ ถ้าเสลดขาว (เกิดจากไวรัสหรือระคายเคือง) ไม่ต้องให้ ถ้าเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว (เกิดจากแบคทีเรีย) ควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซินนาน 7-10 วัน 5.ถ้าไอนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือน้ำหนักลด ควรส่งโรงพยาบาลอาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเสมหะหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุ

Advertisement

ข้อแนะนำ : โรคนี้มักเป็นหลังจากเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่และอาจไอมีเสมหะขาวอยู่นาน 4-6 สัปดาห์ บางรายอาจนานถึง 3 เดือน เพราะเยื่อบุผิวภายในหลอดลมที่อักเสบและสูญเสียหน้าที่ไป กว่าจะเจริญและฟื้นตัวเต็มที่ได้ใหม่อาจใช้เวลา ระหว่างนี้จึงอาจมีอาการระคายเคืองได้ง่ายและไอได้บ่อยเวลาถูกฝุ่นหรือพัดลม ผู้ป่วยมักจะมีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี (กินได้ น้ำหนักไม่ลด ไม่มีไข้) แต่ถ้าพบว่ามีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดหรือมีไข้เรื้อรัง อาจเป็นจากเหตุอื่นๆ เช่น วัณโรค หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาล

ปอดอักเสบ (Pneumonia) : หมายถึงการอักเสบของปอด ซึ่งถือเป็นภาวะร้ายแรงชนิดหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกว่านิวโมเนีย (Pneumonia) ชาวบ้านเรียกว่าปอดบวม มักพบในคนที่ไม่แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กแฝด เด็กขาดสารอาหาร หรือเด็กที่กินนมข้นกระป๋อง ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นพิษสุราเรื้อรัง เช่น หืด หลอดลมอักเสบ ถุงลมพอง หรือผู้ที่กินสเตียรอยด์เป็นประจำ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยเอดส์ เป็นต้น

อาจพบโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ หัด อีสุกอีใส ไอกรน ฯลฯ ผู้ป่วยที่ฉีดยาด้วยเข็มสกปรก หรือพวกที่ฉีดยาเสพติดด้วยตนเอง ก็มีโอกาสติดเชื้อกลายเป็นโรคปอดบวมชนิดร้ายแรง (จากเชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส) ได้ บางครั้งอาจพบในเด็กที่สำลักน้ำมันก๊าด หรือผู้ที่สำลักเศษอาหารเข้าไปในปอด

สาเหตุ : เกิดจากมีเชื้อโรคหรือสารเคมีเข้าไปทำให้มีการอักเสบของปอด ที่สำคัญ ได้แก่ 1.เชื้อแบคทีเรียซึ่งพบเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคนี้ ที่พบบ่อยและรักษาได้ง่าย ได้แก่ เชือปอดบวม หรือนิวโมค็อกคัส (pneumococcus) ที่พบน้อยแต่ร้ายแรง ได้แก่ เชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส เคล็บซิลลา 2.เชื้อไวรัส เช่น หัด ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส ฯลฯ
3.เชื้อไมโคพลาสมา (Mycoplasma pneumonia) ซึ่งทำให้เกิดปอดอักเสบชนิดที่เรียกว่า atypical pneumonia เพราะมักจะไม่มีอาการหอบอย่างชัดเจน

4.เชื้อรา พบได้ค่อนข้างน้อยแต่รุนแรง 5.เชื้อโปรโตซัว เช่น นิวโมซิสติสคาริไน (Pneumocystis carinii) ที่พบในผู้ป่วยโรคเอดส์ 6.สารเคมี ที่พบบ่อย ได้แก่น้ำมันก๊าด ซึ่งผู้ป่วยสำลักเข้าไปในปอด มักจะเป็นปอดด้านข้างขวามากกว่าข้างซ้าย

การติดต่อ : อาจติดต่อได้ทางใดทางหนึ่ง ดังนี้ ก.ทางเดินหายใจ โดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน ข.โดยการสำลักเอาสารเคมี หรือเศษอาหารเข้าไปในปอด ค.แพร่กระจายไปตามกระแสเลือด เช่น การฉีดยา ให้น้ำเกลือ การติดเชื้อในอวัยวะส่วนอื่น เป็นต้น

อาการ : มักเกิดขึ้นทันทีทันใด ด้วยอาการไข้สูง (อาจจับไข้ตลอดเวลา) หนาวสั่น (โดยเฉพาะในระยะที่เริ่มเป็น) และหายใจหอบ ในระยะแรกอาจมีอาการไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ต่อมาจะไอมีเสลดขุ่นข้นเป็นสีเหลือง สีเขียว สีสนิมเหล็ก หรือมีเลือดปน ในเด็กโตและผู้ใหญ่อาจมีอาการเจ็บแปล๊บในหน้าอก เวลาหายในเข้าหรือเวลาไอแรงๆ บางครั้งอาจปวดร้าวไปที่หัวไหล่ สีข้างหรือท้อง ผู้ป่วยที่มีไข้และหายใจหอบมักเป็นปอดอักเสบ ในเด็กเล็กอาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเดิน อาเจียน กระสับกระส่วน หรือชัก

สิ่งตรวจพบ : ไข้สูง (39-40O ซ.) หน้าแดง ริมฝีปากแดง ลิ้นเป็นฝ้า หายใจตื้นแต่ถี่ๆ อาจมากกว่านาทีละ 30-40 ครั้ง (เด็กอายุ 0-2 เดือน หายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาที 2 เดือนถึง 1 ปี หายใจมากกว่า 50 ครั้งต่อนาที 1-5 ปี หายใจมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที) ซี่โครงบุ๋ม รูจมูกบาน ถ้าเป็นมากๆ อาจมีอาการตัวเขียว (ริมฝีปากเขียว ลิ้นเขียว เล็บเขียว) หรือภาวะขาดน้ำ บางรายอาจมีเริมขึ้นที่ริมฝีปาก ปอดอาจเคาะทึบ (dullness) ใช้เครื่องฟังปอดอาจมีเสียงหายใจค่อย (diminished breath sound) หรือมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) ซึ่งมักจะได้ยินตรงใต้สะบักทั้งสองข้าง

อาการแทรกซ้อน : อาจทำให้เป็นฝีปอด (lung Abscess) ภาวะมีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบ (atelectasis) หลอดลมพอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน โลหิตเป็นพิษที่สำคัญ คือ ขาดออกซิเจน และภาวะขาดน้ำซึ่งถ้าพบในเด็กเล็กและผู้สูงอายุอาจทำให้ตาย
ได้รวดเร็ว

การรักษา : 1.ในรายที่เริ่มเป็นยังไม่มีอาการหอบให้ดื่มน้ำมากๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง ให้ยาลดไข้และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน เตตราไซคลีน ถ้าไอมีเสลด ให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ (วันละ 10-15 แก้ว) และอาจให้ยาขับเสมหะ ถ้าอาการดีขึ้นใน 3 วัน ควรให้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีก 1 สัปดาห์ ถ้าไม่ดีขึ้นหรือกลับมีอาการหอบควรแนะนำไปโรงพยาบาล

2.ถ้ามีอาการหอบ หรือสงสัยมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ รีบให้ยาปฏิชีวนะ แล้วส่งโรงพยาบาลด่วน หากรักษาไม่ทันอาจตายได้ ถ้ามีภาวะขาดน้ำ ควรให้น้ำเกลือ ผู้ใหญ่ 5% D/NSS เด็กให้ 5%D/1/3NSS ระหว่างเดินทางไปด้วย

มักจะวินิจฉัยโดยเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะค้นหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ เจาะเลือดไปเพาะเชื้อ และให้การรักษาโดยให้ออกซิเจน น้ำเกลือและยาปฏิชีวนะซึ่งอาจให้เพนิซิลลินฉีด เข้ากล้ามหรือเข้าหลอดเลือดดำในขนาดสูงๆ หรือยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆ ตามแต่ชนิดของเชื้อที่พบ เช่น เชื้อนิวโมค็อกคัส มักจะให้เพนวี หรือเพนิซิลลินจีชนิดฉีด เชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส ให้คล็อกซาซิลลิน เชื้อไมโคพลาสมา ให้อิริโทร
ไมซิน หรือเตตราไซคลีน เชื้อนิวโมซิสคาริไน ให้โคไตรม็อกซาโซล เป็นต้น

ข้อแนะนำ : 1.ผู้ที่มีอาการไข้สูงและหอบ มักมีสาเหตุจากปอดอักเสบ แต่ก็อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นได้ 2.โรคนี้แม้ว่าจะมีอันตรายรุนแรง แต่ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็มักจะหายขาดได้ ดังนั้น หากสงสัยผู้ป่วยเป็นโรคนี้ควรรีบให้ยาปฏิชีวนะ แล้วส่งไปโรงพยาบาลทันที

การป้องกัน : 1.ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันไข้หวัด 2.อย่าฉีดยาด้วยเข็มและกระบอกฉีดยาที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ 3.อย่าอมน้ำมันก๊าดเล่น ควรเก็บน้ำมันก๊าดให้ห่างมือเด็ก 4.เมื่อเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส ฯลฯ ควรดูแลรักษาเสียแต่เนิ่นๆ 5.ป้องกันมิให้เป็นโรคทางปอดเรื้อรัง (หลอดลมอักเสบ ถุงลมพอง) โดยการไม่สูบบุหรี่ ปอดอักเสบ มักพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้นกันโรคต่ำ

โดยสรุป โรคที่มากับหน้าฝนมักเป็นโรคที่เกิดกับทางเดินหายใจ ตั้งแต่จมูก โพรงจมูก ลำคอ หลอดลม และปอด เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้เขียนอยากเน้นให้แฟนๆ มติชน เน้นการอ่านในหัวข้อคำแนะนำ และการป้องกันในแต่ละโรคเป็นอันดับแรกๆ หากสุดท้ายป้องกันแล้วยังเกิดโรคทางเดินหายใจ ข้อสำคัญที่สุดควรต้องให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ทานอาหารอุ่น เช่น น้ำอุ่น ไม่กินน้ำเย็น เมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ซึ่งปกติจะหายได้ใน 1-2 วัน เพราะเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นเองหายเองได้ แต่หากไข้ยังสูง อาการไม่ทุเลา มีไข้สูง ไอมาก เสมหะขุ่นข้นสีเหลืองหรือเขียว ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด อาจจะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียก็ได้ ฉะนั้นการให้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องตามแพทย์สั่ง รวมทั้งการปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งด้วยก็จะหายได้รวดเร็ว ไม่เป็น… “โรคปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม” ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image