สกู๊ป หน้า 1 : ส่องดีเอ็นเอ “โขน” เขมร-ไทย ใครเจ้าของ ?

จากซ้าย โขนไทย ภาพจากกรมศิลปากร , "ลโคน โคล" โขนเขมร ภาพจากwikiwand.com

กลายเป็นวิวาทะทางวัฒนธรรมขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีผู้จุดประเด็นที่ทางการไทยเตรียมเสนอการแสดงโขนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ต่อองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก สร้างความแคลงใจให้ชาวกัมพูชาบางส่วน จนเกิดการถกเถียงในโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างกว้างขวาง โดยมีการเผยแพร่ภาพและข้อความเกี่ยวกับ โขนไทยและกัมพูชา พร้อมตั้งคำถามเรื่องที่มาว่าใครกันแน่ คือเจ้าของที่แท้จริง

สุจิตต์ วงษ์เทศ นักค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า โขน มีพัฒนาการจากหนังใหญ่เรื่องรามายณะ ซึ่งเป็นวรรณกรรมอินเดียโบราณ เพื่อยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นประดุจอวตารของพระนารายณ์มาปราบยุคเข็ญให้บ้านเมืองร่มเย็น เมื่อกลุ่มคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับแนวคิดและอิทธิพลจากวรรณกรรมดังกล่าว ได้นำมาปรับเปลี่ยนและพัฒนาโดยมีท่วงท่าพื้นเมือง ซึ่งมาจาก “ท่ากบ” และ “ท่ายืดยุบ” ซึ่งในอินเดียไม่มี คำเรียกชื่อ โขนละคร มีรากจากตระกูลชวา-มลายู ว่า “เลกอง” ไทยใช้ว่า “โขนละคอน” ปัจจุบันสะกดเป็น “โขนละคร” ดังนั้น จึงนับว่าโขนเป็น “วัฒนธรรมร่วม” เพราะมีรากเหง้าความเป็นมาร่วมกันตั้งแต่ครั้งยังไม่มีเส้นพรมแดนประเทศ ทุกชาติจึงเป็นเจ้าของร่วมกัน

“โขน เป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน มีในหลายประเทศ อาจเรียกชื่อต่างๆกันตามท้องถิ่น จึงควรเป็นมรดกร่วมกัน ไม่ใช่แค่ไทย-กัมพูชา เช่นเดียวกับดนตรี-นาฏศิลป์ประเภทอื่นๆในภูมิภาคนี้ ซึ่งล้วนเป็นวัฒนธรรมร่วมของทุกชาติพันธุ์ จะแยกโดดๆไม่ได้ว่าเป็นสมบัติของใครของมัน ความขัดแย้งในประเด็นวัฒนธรรมระหว่างไทย-กัมพูชา สะท้อนถึงมรดกตกค้างจากยุคอาณานิคม ทางแก้ไขควรร่วมกันชำระประวัติศาสตร์ และก้าวข้ามผ่านความขัดแย้ง”

เลกอง อินโดนีเซีย ภาพจาก wikipedia
เลกอง อินโดนีเซีย ภาพจาก wikipedia

ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่มักกล่าวอ้างกันว่า โขนกัมพูชาเคยสูญหายไป กระทั่ง “หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด ปราโมช” ซึ่งเดินทางไปอยู่ในราชสำนักกัมพูชาในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วสอนโขนละครให้เขมรนั้น สุจิตต์ส่ายหน้า บอกว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน

Advertisement

“เนื้อหาที่ใช้ในสถาบันการศึกษาด้านนาฏศิลป์ของไทย เชื่ออย่างนั้นแล้วสอนกันต่อมาว่า นาฏศิลป์เขมรรับจากไทย จริงๆแล้ว หม่อมฉวีวาด สอนละครเรื่องอิเหนา ซึ่งเขมรเล่นไม่เป็น เพราะเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งมีสมัยรัชกาลที่ 2 ไม่ได้สอนโขน” สุจิตต์กล่าวพร้อมตบท้ายว่า ไทย-กัมพูชา ควรใช้โอกาสนี้ในการร่วมมือกันศึกษาลงลึกในรายละเอียดเรื่องโขนไปเลยก็ยิ่งดี

สำหรับความแตกต่างระหว่างการแสดงรามายณะในอินเดียซึ่งเป็นต้นฉบับ กับโขนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ฤตพชรพร ทองถนอม ซึ่งจบการศึกษาด้านภารตะนาฏยัม (นาฏศิลป์อินเดีย) จากมหาวิทยาลัยบาณารัสฮินดู เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย ปัจจุบันเป็นอาจารย์ภาควิชาศิลปะการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ลีลาตัวละครในอินเดียจะแสดงออกด้านอารมณ์ความรู้สึกอย่างชัดเจน ทั้งสีหน้า แววตา มีความขึงขัง ต่างจากประเทศในอุษาคเนย์ที่รับเรื่องรามายณะมาแสดงโขนซึ่งเน้นความสวยงาม เนิบช้า ตัวอย่างเช่น ทศกัณฐ์ ในอินเดียจะเปิดหน้า เขียนตา กระทืบเท้ารุนแรง ส่วนในอุษาคเนย์เน้นการตกแต่งด้วยเครื่องประดับ มีการสวมศีรษะโขน และใช้ท่วงท่าสง่างาม

“ไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว พม่า กัมพูชา อินโดนีเซียมีโขนทั้งนั้น แม้แต่สิงคโปร์ เพราะมีกลุ่มชาวฮินดู แต่ต่างกันที่ลีลาการแสดงซึ่งอินเดียมีการแสดงออกด้วยสีหน้า แววตา อารมณ์อย่างรุนแรง ไม่เหมือนในอาเซียนที่เน้นความอ่อนช้อย สวยงาม ยกเว้นสิงคโปร์ มีความใกล้เคียงกับอินเดียมาก”

Advertisement

มาลงลึกไปอีกนิด สำหรับโขนไทย-กัมพูชา ณัฐพล จันทร์งาม อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมเขมร กล่าวว่า โดยภาพรวมของแนวคิดก็ต่างกันแล้ว ไทยเรามองว่าโขนเป็นการแสดงอีกประเภทหนึ่งเลย ซึ่งต่างจากละคร แต่เขมรมองว่าเป็นละครอย่างหนึ่ง เรียก “ลโคน โคล” หรือ “ละครโขน” ปัจจุบันมีการประยุกต์นำมาแสดงเป็นละครแนวขบขันทางโทรทัศน์ด้วย

“ลโคน โคล จัดเป็นละครประเภทหนึ่ง เดี๋ยวนี้มีเอามาเล่นเป็น comedy ออกโทรทัศน์ด้วย แต่ไทยเรา โขน ก็คือ โขน ไม่จัดเป็นละคร ซึ้งความแตกต่างนั้น นอกจากบทร้อง-บทเจรจาที่ใช้ภาษาต่างกัน ท่ารำก็น่าจะมีรายละเอียดต่างกัน สังเกตว่าเวลาตั้งวงของไทย จะเน้นส่วนโค้งของวงแขน แต่ของเขมรออกเหลี่ยมๆ”

"ลโคน โคล" ภาพจากwww.angelfire.com
“ลโคน โคล” ภาพจากwww.angelfire.com

ณัฐพลยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในพม่านั้นก็มีการแสดง “หย่าม่ะซัตด่อว์” ซึ่ง มาจากบาลีว่า “รามชาต” (รามะชาตะ) ส่วนคำว่า “ด่อว์” เป็นคำยกย่อง เทียบได้กับคำว่า “พระ” ถ้าแปลแบบไทยๆ คือ พระรามชาติ คนไทยมักเรียกให้เข้าใจง่ายว่า “โขนพม่า”

“หย่าม่ะซัตด่อว์” ของพม่า
“หย่าม่ะซัตด่อว์” ของพม่า

มาถึงประเด็นสำคัญ อย่างการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งคนจำนวนมากเข้าใจว่าคล้ายกับการ “จดลิขสิทธิ์” ทั้งที่จริงๆแล้ว ไม่ใช่เช่นนั้นเลย
ผศ.ดร.ดวงใจ หล่อธนวณิชย์ อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับมรดกโลกของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้หลายรายการ อธิบายว่า หากทำความเข้าใจเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (ICH 2003) ไม่มีอะไรเลยที่เกี่ยวข้องกับ “ความเป็นเจ้าของ” หรือการอ้างสิทธิ์ ใดๆ จึงอยากเสนอว่า

1. มาทำความเข้าใจรายละเอียดอนุสัญญาฉบับนี้กัน การขึ้นทะเบียน ไม่ได้ประกาศความเป็นเจ้าของ หรือความมีสิทธิ์ แต่ประกาศว่าประเทศนั้นเห็นคุณค่าความสำคัญของมรดกที่มีชีวิตเหล่านั้น และอยากจะรักษาให้สืบทอดต่อไป

2. การขึ้นทะเบียน ไม่ได้เป็นการไปตัดสิทธิ์ การขึ้นทะเบียนแล้วประเทศอื่นๆที่เขามีวัฒนธรรมคล้ายๆกัน จะลุกชึ้นมาประกาศขึ้นใหม่ก็ได้ เช่นกรณี กิมจิ ทั้งเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ก็ขึ้นทะเบียนแยกกัน

3. ไม่มีการเน้นเรื่องประวัติศาสตร์ ว่าใครประดิษฐ์ขึ้นมา ใครจะคิดค้นถ่ายทอดมาอย่างไรก็ได้

ดวงใจ หล่อธนวณิชย์
ผศ.ดร.ดวงใจ หล่อธนวณิชย์

“จากอนุสัญญาฉบับนี้ การที่ไทยนำเสนอโขนเป็นมรดกโลก หรือประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวัฒนธรรมความคล้ายคลึงกัน ก็จะลุกขึ้นมาเสนอโขนเป็นมรดกโลกก็ได้ ที่สำคัญคือ ไม่ใช่ได้แล้วดีใจแค่นั้นจบ แต่ต้องขับเคลื่อนต่อ เพื่อให้คนรู้จักและร่วมกันสืบทอด เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้นั้น คนมักเข้าใจผิดว่า จะได้รับเงินสนับสนุน จริงๆแล้ว ไม่มี ทุกประเทศที่เป็นสมาชิก ต้องเสียเงินค่าสมาชิกยูเนสโกเป็นรายปีด้วย การที่มรดกวัฒนธรรมของชาติได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาวหากมีการจัดการที่ดี อย่างกรณีอาหารญี่ปุ่น เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจชุมชน และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เกษตร ชาวนา ชาวประมง มีรายได้ และเป็นการสร้างแบรนด์ สร้างคุณค่าให้วัฒนธรรมของชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก”

บทเรียนจากกระแสในครั้งนี้ อาจชี้ให้เห็นว่าการค้นหาที่มาเพื่อตีตราความเป็นเจ้าของ ไม่สำคัญเท่าการมองถึงการดำรงไว้ซึ่งมรดกภูมิปัญญาดังกล่าวด้วยการสืบทอดอย่างเข้าใจในความเป็น “วัฒนธรรมร่วม” อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image