ร.ร.เอกชนกว่า 90% อ่วม ผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอม ‘ศุภเสฏฐ์’ ชี้เจ้าของแห่ขายกิจการอีก 20 แห่ง

เมื่อวันที่ 24 กันยายน ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยกรณีนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รวบรวมข้อมูล และสภาพปัญหาการจัดการศึกษา พร้อมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเอกชน เสนอต่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ว่า ที่ผ่านมา ส.ปส.กช.ได้เรียกร้องให้ปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวมาโดยตลอด ซึ่งไม่ได้ปรับเพิ่มมาตั้งแต่ปี 2552 รวมกว่า 10 ปี ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และ ส.ปส.กช.อยู่ระหว่างเร่งรวบรวมข้อมูลเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวของนักเรียนโรงเรียนเอกชน และวิเคราะห์ให้ครบทุกมิติ เพื่อสะท้อนภาพจริงว่าโรงเรียนเอกชนจัดการศึกษาอย่างไร คุณภาพเป็นอย่างไร นักเรียนเป็นอย่างไร มีนักเรียนของโรงเรียนเอกชนที่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนกี่คน เป็นต้น รวมถึง นักเรียนที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่เรียนอยู่ในโรงเรียนเอกชนด้วย

“ปัจจุบันเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กไทยที่เรียนในโรงเรียนเอกชน ในระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รับจัดสรรเพียง 62-63% ของอัตราเงินอุดหนุนที่นักเรียนโรงเรียนรัฐได้รับ และระดับมัธยมศึกษาได้รับจัดสรรเพียง 70% ในขณะที่นักเรียนโรงเรียนรัฐได้รับการจัดสรร 100% ส่วนเงินอุดหนุนอาหารกลางวันนักเรียนเอกชนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้น ป.6 ได้รับจัดสรรเพียง 28% ของนักเรียนโรงเรียนเอกชนทั้งหมด ส่วนเด็กที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักที่เรียนอยู่ในโรงเรียนเอกชน จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนเลย” ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าว

ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ และน่าสังเกตว่าแม้จะเป็นเด็กไทย แต่ถ้าเรียนในโรงเรียนเอกชน จะได้เงินอุดหนุนน้อยกว่าเด็กต่างชาติที่เดินทางข้ามชายแดนมาเรียนในโรงเรียนของรัฐ ซึ่ง ส.ปส.กช.กำลังรวบรวมข้อมูลข้อมูลเด็กต่างชาติเข้ามาเรียนในโรงเรียนของรัฐทั่วประเทศ ที่ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว 100% ว่ามีจำนวนเท่าใด เบื้องต้นคาดว่าอาจมีจำนวนมากถึง 100,000 คน

ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มีโรงเรียนเอกชนกว่า 90% ที่มีผู้ปกครองค้างจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียนของนักเรียน บางคนค้างจ่ายต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ถึงปีการศึกษา 2562 และมีแนวโน้มค้างจ่ายเพิ่มขึ้นทุกโรงเรียน ยอมรับว่าตกใจ และไม่เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน บางโรงเรียนแนะนำให้ผู้ปกครองย้ายลูกหลานไปเรียนโรงเรียนรัฐ ซึ่งผู้ปกครองก็อยากให้ลูกหลานเรียนต่อเนื่องที่โรงเรียนเดิม ขณะที่ทางโรงเรียนต้องรับภาระเสียภาษีโรงเรือนที่เพิ่มขึ้น ทำให้แบกรับภาระค่าใช้จ่าย ขณะนี้ขอแค่ให้โรงเรียนอยู่ได้ ไม่คิดถึงกำไร แค่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน ให้เงินเดือนครู อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับใบอนุญาตบางโรงเรียนก็ถอดใจ ประกาศขายกิจการแล้ว 10-20 แห่ง ซึ่งนางกนกวรรณรับทราบปัญหา และพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image