‘สมพงษ์’ ตั้งวงถกปฏิรูปการศึกษา ค้านยุบร.ร.เล็ก-สอบเข้า 100%

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ที่ห้องประชุมอำไพ สุจริตกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวทีเสวนาสาธารณะวันเยาวชนแห่งชาติ “การปฏิรูปการศึกษาที่เยาวชนเป็นเจ้าของ” และเวทีเสวนา เรื่อง “สุก หรือ สุข พื้นที่การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน”  โดยนายสมพงษ์  จิตระดับอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า ในระบบการศึกษาจะพบว่าในห่วงโซ่การศึกษาคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและส่วนร่วมต่ำที่สุด คือ เด็กและเยาวชน ดังนั้นสิ่งที่เราจะพบก็คือ ใครเป็นเจ้าของการศึกษา ใครเป็นผู้จัดการศึกษา จากคำถามนี้ องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น จึงเกิดชุดแนวความคิดหลักของการศึกษาปีนี้ ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียน หรือ ปฏิรูปการศึกษาโดยเยาวชนเป็นเจ้าของ ดังนั้นสิทธิทางการศึกษาจริงๆ เป็นเรื่องของเด็ก ผู้ใหญ่ต้องออกมา และให้เด็กมีส่วนร่วมในเรื่องการออกแบบการเรียนรู้ ต่อจากนี้การปฏิรูปการศึกษาต้องอย่าลืมเด็ก ว่า เขาคิด และต้องการอะไร

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ยูเอ็น ให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะยากจน พิการ อยู่ในเมืองหรือชนบท ซึ่งใจความสำคัญของเรื่องนี้ ถือเป็นหลักคิดของมนุษยชาติ ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องมาทบทวนว่าเราจัดการศึกษาเพื่อใคร ตอบโจทย์เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พ่อแม่ผู้ปกครอง ค่านิยม แต่เราไม่เคยตอบโจทย์วิธีคิดของเด็กเลยหรือไม่ เพราะฉะนั้นการศึกษาที่ยูเอ็น ให้ความหมายในเรื่องของปฏิรูปการศึกษา เป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ทักษะด้านอารมณ์ ที่เด็กจะได้เรียนตรงกับความสนใจความต้องการ การศึกษามีความเท่าเทียมเที่ยงธรรม ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงถึง 20 เท่า ระหว่างในเมืองกับชนบท เด็กฐานะยากจนที่สุดในประเทศ มีถึงร้อยละ 20 และสามารถเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น แต่ร้อยละ 20 ของเด็กที่มีฐานะทางสังคมสูง สามารถเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้ 100%

“การที่ประเทศเราพูดถึงการศึกษาเพื่อทุกคน แต่เราจะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนกว่า 15,000 โรง และเด็กชนบทก็จะไปเรียนที่ไหน สิ่งที่กำลังจะตามมาอีกคือ การจัดสอบเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แบบ 100% ในจำนวน 400 กว่าโรงเรียน เรื่องนี้ทำให้เราพบกับการเรียนในลักษณะที่แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย การเรียนกวดวิชาจะเพิ่มขึ้น เพราะค่านิยมของพ่อแม่ที่ต้องให้ลูกเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุด และสำหรับโรงเรียนอีก 15,000 แห่งที่เหลือ เราจะเอาไปไว้ไหน ทำไมไม่มีการมองเรื่องการสร้างคุณภาพของโรงเรียนให้มีความเท่าเทียมและเที่ยงธรรม อีกทั้งระบบการศึกษาเรายังออกแบบให้หลักสูตรมีตัวดัชนี บ่งชี้ กว่า 1,400 ตัว ที่ครูจะต้องทำให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครจะมานั่งสนใจชีวิตเด็ก ครูจะมุ่งสอนเนื้อหา แต่ไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งผมมองว่าเราจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก การสอบเข้า 100% การผลิตคนเพื่อป้อน EEC เพราะเด็กในพื้นที่จะหายไปต่างคนต่างเข้าไปเรียนต่อในเมือง ทำให้สายสัมพันธ์ในชุมชนหายไปด้วย”นายสมพงษ์ กล่าว

ด้านนายคณิน เครือพิมาย นักศึกษามหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ธรรมชาติของพื้นที่การเรียนไม่รู้ ตนขอให้ทุกคนนึกสภาพห้องเรียนที่เราพาเด็กคนหนึ่งเข้าไป นั่งฟังครูสอน สิ่งที่ได้รับรู้ คือ บางเรื่องก็สามารถนำไปใช้ได้ แต่ในบางครั้งเราก็ไม่ได้นำมาใช้ และน้อยครั้งมากที่เราจะต้องได้รู้ว่าสิ่งที่เราเรียนมีผลกระทบอย่างไรกับเรา สามารถนำไปใช้ตอนไหน อีกทั้งเรื่องที่เจ็บปวดมาก คือ เราไม่รู้ว่าตัวเองเรียนไปทำอะไร เรียนไปใช้อย่างไร และสภาพแวดล้อมในห้องเรียนก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เราได้เรียนรู้ กีดกันความสามารถของเด็ก กำหนดความสำคัญของรายวิชาให้มีความต่างกันทั้งที่เด็กมีความถนัดไม่เหมือนกัน ปัญหาของระบบการศึกษาส่วนหนึ่ง คือ คนในระบบการศึกษาไม่รู้ว่าตัวเองเรียนไปทำไม และการที่จะแก้ไขระบบการศึกษาค่อนข้างที่จะเป็นเรื่องยาก

Advertisement

นายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ภาพรวมของกรมกิจการเด็กและเยาวชน เรามีคำถามมากมายว่าระบบการศึกษาสามารถสร้างความเท่าเทียมไปสู่ทุกคนได้จริงหรือไม่ เพราะตนเคยพบเด็กอายุ 7 ขวบ ที่อยู่ในระบบการศึกษาปกติไม่สามารถอ่านเขียนได้ อีกทั้งยังมีเด็กอีกหลายคนที่ไม่มีชุดนักเรียนใส่ ซึ่งตนมองว่าการศึกษาอาจจะไม่ตอบโจทย์เด็กทุกคน เป็นเหมือนการตัดเสื้อตัวเดียวให้เด็กทุกคน ถ้าหากเด็กและเยาวชนที่อยู่ในสังคมไทยไม่ได้มีความเหมือน หรือใช้รูปแบบเดียวกันในการที่จะให้เขาใช้เดินไปข้างหน้าด้วยหลักสูตรเดียวกัน ดังนั้นกรมกิจการเด็กและเยาวชนจะต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กเหล่านี้ เพราะเราจะปล่อยให้เด็กทำทุกสิ่งอย่างไม่ได้ แต่วิธีการเป็นสิ่งที่มีปัญหาเพราะเราไม่พยายามสร้างความไว้ใจและเชื่อมั่นในเด็กว่าเขาสามารถทำอะไรได้ ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ และในส่วนของภาครัฐเองก็จะต้องหาแนวทางให้เด็กๆ มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image