มฟล.ปลื้มงานวิชาการด้านเชื้อรา ถูกใช้อ้างอิงมากเป็นอันดับ 1 ของโลก

เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) นางชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล.กล่าวตอนหนึ่งในรายงานพัฒนาการ/ผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ในการจัดงานสถาปนามหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี ว่า ในปีที่ 21 มีผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2545-2561 รวม 26,416 คน โดยในปีการศึกษา 2562 มฟล.มีนักศึกษา 14,594 คน ในจำนวนนี้มีนักศึกษาต่างชาติ 730 คน ปัจจุบันเปิดสอน 71 สาขาวิชา ใน 15 สำนักวิชา และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้เปิดสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการขึ้นมา ประกอบด้วยหลักสูตรปริญญาตรี 3 หลักสูตร ได้แก่ การแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต การแพทย์แผนจีนบัณฑิต และกายภาพบำบัดบัณฑิต และในปีการศึกษา 2563 มีแผนเปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาอีก 2 หลักสูตร ได้แก่ การแพทย์บูรณาการมหาบัณฑิต และกายภาพบำบัดมหาบัณฑิตด้วย นอกจากนี้ มฟล.มีเป้าหมายจะก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศูนย์กลางการแพทย์ หรือ Medical Education Hub และ Medical Service Hub ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

“นอกจากนี้ มฟล.มีความร่วมมือทางวิชาการ และพัฒนากำลังคน กับสถาบัน และหน่วยงานสำคัญจากต่างประเทศกว่า 134 สถาบันทั่วโลก นอกจากนี้ มีอีกสิ่งที่ภาคภูมิใจ และประสบความสำเร็จอย่างมาก คือศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านวิจัยเชื้อรา ที่ผลงานวิชาการด้านนี้ได้รับการอ้างอิง และตีพิมพ์เป็นบทความวิชาการมากเป็นอันดับ 1 ของโลก อีกทั้ง การสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ มฟล.ติดอันดับในการจัดอันดับจาก THE World University Rankings 2020 เป็นปีแรก อยู่อันดับที่ 601-800 ทำให้ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 1 ของไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะมุ่งพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกต่อไป” นางชยาพรกล่าว

นางชยาพรกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์อุดมศึกษาในปัจจุบัน หลายมหาวิทยาลัยอาจมองว่าลำบากมากขึ้นในการรับนักศึกษาที่น้อยลง สำหรับ มฟล.ยังไม่มีความเสี่ยงเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้ประมาท จะสร้างอัตลักษณ์ คุณภาพของนักศึกษา และมหาวิทยาลัยให้ชัดเจน และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น พร้อมกับพัฒนางานวิจัยให้มีผลงานได้รับการต่อยอดเชิงพานิชย์มากขึ้น

“ส่วนที่มหาวิทยาลัยต้องเตรียมปรับเปลี่ยนตามกระแสโลกอย่างไร อย่างหนึ่งคือต้องพร้อมสำหรับกระบวนการการเรียนรู้ของกลุ่มเจนเนอเรชั่นใหม่ เพราะในห้องเรียนอาจไม่พอแล้ว ต้องเพิ่มช่องทางให้หลากหลาย ไม่ว่าจะเรียนออนไลน์ หรือเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งต้องสร้างหลักสูตรให้ยืดหยุ่นสำหรับกลุ่มผู้เรียนที่หลากหลายด้วย อย่างไรก็ตาม แต่ละหลักสูตรต้องทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม หรือภาคเอกชน ที่ต้องการกำลังคนในสายวิชาชีพนั้นๆ เพื่อให้มีทักษะของการทำงานที่ชัดเจนด้วย” นางชยาพร กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image