ศธ. เล็งยกเครื่องแก้หนี้ครู หลังศาลสั่งหักหนี้ให้เหลือเงินไม่ต่ำกว่า 30%

กรณีที่ ศาลปกครองกลางพิพากษารัฐมนตรีว่าการศธ.และคณะผู้บริหาร ศธ.ทั้งประเทศ ทำผิดระเบียบศธ. หักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้เกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยผู้กู้จะต้องมีเงินเหลือจากการหักชำระหนี้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของอัตราเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญที่ได้รับ และสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ถูกต้องใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุนั้น อ่าน ครูเฮ! ศาลชี้ รมว.ศธ.-บิ๊ก ขรก.ผิดระเบียบหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญชำระหนี้เงินกู้เกินกฎหมายกำหนด

เมื่อวันที่ 27 กันยายน นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ศธ.รับทราบคำพิพากษาของศาลปกครองกลางแล้ว และกำลังให้เจ้าหน้าที่ดูรายละเอียดก่อนว่าคำพิพากษามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการแนวทางต่อไปอย่างไร อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นโอกาสของตนและศธ. จะได้ดูปัญหาหนี้ครูทั้งระบบ การมีคำพิพากษาก็จะทำให้ทุกภาคส่วนกระตือรือร้นแก้ปัญหาเรื่องนี้ทำได้เร็วขึ้น

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ส่วนจะอุทธรณ์หรือไม่นั้น เรื่องนี้ต้องขอดูรายละเอียดก่อน เพราะเรื่องนี้ย้อนหลังไปหลายสิบปี  ส่วนการที่ในแต่ละองค์กรที่ปล่อยกู้ ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ สถาบันการเงิน จะมีแนวทางอย่างไร สุดท้ายความปลอดภัยในการดำรงชีวิตของครู ความเหมาะสมในการดำรงชีวิตของครู เพื่อที่จะทำให้การเรียนการสอนให้ดีที่สุด เป็นเรื่องใหญ่ ปัญหาที่มีอยู่ก็แก้ไขกันไป ทุกปัญหาที่ศธ.พยายามแก้อยู่ ก็เพื่อทำให้พ้นฐานการเรียนการสอน มีความเข้มแข็งมากที่สุด หลายเรื่องทำให้การเรียนการสอนของประเทศไทยอ่อนแอ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ควรกำหนดเพดานการกู้ของครูหรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ควรทำอยู่แล้ว ซึ่งก็มีกฎหมายและระเบียบกำหนดไว้ แต่การปฏิบัติอาจจะหลุดจากเพดานที่วางไว้ ระบบป้องกัน ระบบพบเจอ ยังไม่แข็งแรงพอ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งต้องย้อนกลับดูเรื่องระบบการเชื่อมต่อของข้อมูล กระบวนการนำบิ๊กดาตามาใช้ในทุกภาคส่วนของกระทรวงและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีล็อกหรือไฟแดงขึ้นก็ไม่มีใครปล่อยได้  แต่ปัญหาคือ เรายังไม่สามารถเชื่อมบิ๊กดาตาได้ ซึ่งในอนาคตต้องมีการล็อกส่วนครูแต่ละคนจะปฏิบัติอย่างไรก็เป็นเรื่องของครู เป็นเรื่องของจิตสำนึก

Advertisement

นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการศธ. ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) กล่าวว่า ตนพอทราบเรื่องแล้ว คิดว่าเป็นเรื่องที่ควรอุทธรณ์ เพราะคำพิพากษานี้น่าจะเป็นผลดีกับการจัดระบบแก้ปัญหาหนี้สินครู  อย่างไรก็ตามส่วนตัวได้มอบให้ฝ่ายนิติกรเตรียมการ เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาล แล้ว ซึ่งศาลให้เวลา 6 เดือน ในการดำเนินการ ดังนั้นยังพอมีเวลา โดยสถาบันทางการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องหันมาดูว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานตนจะต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง โดยปัญหาที่มีอยู่คือ ปัจจุบันเป็นการเบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง และสำนักงานผู้เบิกเงินเดือนและสำนักงานผู้เบิกบำนาญ ที่ดูแลเรื่องการหักเงินครูอยู่ เช่นโรงเรียนมัธยมศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด ที่จะต้องทำหน้าที่รับรองเงินคงเหลือของแต่ละบุคคล ว่า หักแล้วเหลือเงินเท่าไร ก็ต้องมาคุยกันด้วย

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการหลังจากนี้คือ จะต้องมาจัดระเบียบวินัยทางการเงินการคลังให้มากขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการศธ.ต้องมีนโยบายให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองดังกล่าว ทำให้กระบวนการวินัยทางการเงินการคลังมีความรัดกุมมากขึ้น โดยสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการครู ธนาคาร สกสค. เป็นต้น  จะต้องคำนึงถึงเงินคงเหลือของผู้มาขอกู้ให้มากขึ้น หากผู้มาขอกู้คำนวณแล้วมีเงินเดือนคงเหลือน้อยกว่า 30%  จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง หรือต้องปลดล็อกอะไรได้บ้าง ซึ่งอาจต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ก็จะไปผูกพันกับผู้ค้ำประกันอีก ดังนั้นเรื่องนี้จะต้องมาดูกันทั้งระบบ

“ตามกฎหมายให้โอกาสสหกรณ์ออมทรัพย์ฯหักหนี้ได้เป็นลำดับแรก จากนั้นจึงเป็นสถาบันการเงินอื่น ๆ ตามลำดับ และหากใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จ บำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในและสหกรณ์ พ.ศ.2551 โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ หักเงินแล้วครูเหลือเงินไม่ถึง 30% สถาบันการเงินอื่นก็จะหักเงินครูไม่ได้เลย ก็จะเกิดผลกระทบแน่นอน อย่าง สกสค.เองก็จะต้องกระทบกับโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.)  เพราะฉะนั้นเมื่อมีคำสั่งศาลออกมา ก็ถือเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายต้องการร่วมกันหารือถึงทางออกของปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ ต้องแบ่งสัดส่วนการหักเงินให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบต่อตัวครูและสถาบันการเงิน”นายอรรถพลกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image