ขึ้นทะเบียน 15 หนังไทย เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติปี’62

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ประกาศรายชื่อภาพยนตร์ 15 เรื่อง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี พ.ศ.2562 เพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ เป็นหลักประกันว่าภาพยนตร์เหล่านี้จะได้รับการอนุรักษ์อย่างดี เพื่อส่งต่อให้ชนรุ่นหลัง โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก คือการเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่า บันทึกประวัติศาสตร์ ความทรงจำ มีความเสี่ยงต่อการสูญเสีย มีบูรณภาพ หรือมีอิทธิพลต่อสังคมในยุคสมัยต่างๆ โดยคณะกรรมการพิจารณาตัดสินได้คัดเลือกภาพยนตร์ 15 เรื่อง จากภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอให้พิจารณากว่า 250 เรื่อง โดยประชาชนที่ร่วมเสนอกว่า 800 ราย

นายอิทธิพลกล่าวอีกว่า ในปีนี้ ภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดเลือก มีทั้งภาพยนตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทางสังคม และประวัติศาสตร์ รวมทั้งภาพยนตร์เรื่อง (feature film) ที่มีความโดดเด่นทางศิลปะ และมีอิทธิพลต่อผู้ชม ดังนี้ ภาพยนตร์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.2469 ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ชุดแรกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงถ่ายด้วยพระองค์เองระหว่างการเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ราวปีเศษ เห็นภาพภูมิประเทศ พสกนิกร กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมทั้ง พิธีต้อนรับยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ, ภาพยนตร์เรื่อง (การเสด็จเลียบเมืองเหนือ ROYAL TOUR IN NORTHERN SIAM) เป็นบันทึกเหตุการณ์เดียวกันแต่นำเสนอในอีกมุมมอง เป็นการถ่ายทำโดยกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ศูนย์ผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์อย่างเป็นทางการแห่งแรกของสยาม ซึ่งหอภาพยนตร์ได้เก็บอนุรักษ์เศษที่เหลือจากการตัดต่อของภาพยนตร์ (Outtake) มาเรียบเรียงใหม่

“นอกจากนี้ ยังมีหนังอีกหนึ่งเรื่องจากกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ได้ขึ้นทะเบียนฯ คือ ชมสยาม ภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุดแรกของสยาม ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2473 เพื่อหวังให้ชาวต่างชาติเห็นสภาพบ้านเมือง และวัฒนธรรมของประเทศ” นายอิทธิพลกล่าว

นายอิทธิพลกล่าวว่า ภาพยนตร์สำคัญอีก 2 เรื่อง ได้แก่ เลือดชาวนา (พ.ศ.2479) และปิดทองหลังพระ (พ.ศ.2482) ถึงแม้จะหลงเหลือเพียงแค่เศษของภาพยนตร์ (ไม่เต็มเรื่อง) แต่ทั้งคู่เป็นผลงานของทีมงานผู้บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์ไทยที่หลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด และเป็นตัวอย่างของภาพยนตร์ไทยประเภทภาพยนตร์เรื่อง 35 มม. เสียงในฟิล์มตามแบบมาตรฐานสากลที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบของ 2 บริษัทผู้สร้าง ที่เป็นคู่แข่งกันในยุคสมัยนั้น คือ โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง และโรงถ่ายไทยฟิล์ม

Advertisement

นายอิทธิพลกล่าวต่อว่า ยังมีภาพยนตร์ 2 เรื่อง ที่สื่อถึงประเด็นเพศสภาพ เป็น 2 ภาพยนตร์จาก 2 ยุคสมัย ภาพยนตร์เงียบเรื่อง กะเทยเป็นเหตุ (พ.ศ.2497) ภาพยนตร์สมัครเล่นไทยที่มีกะเทยเป็นตัวละครหลักที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ เป็นหลักฐานสำคัญที่ในการสำรวจความเข้าใจ และทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อความหลากหลายทางเพศตั้งแต่ยุค 60 กว่าปีก่อน และ INSECTS IN THE BACKYARD (พ.ศ.2560) ภาพยนตร์ไทยอิสระขนาดยาวเรื่องแรกๆ ที่กล้าเปิดประเด็นปะทะกับขนบธรรมเนียมของสังคมไทยร่วมสมัย ว่าด้วยความลื่นไหลของเพศสภาพ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูก “แบน” จาก พ.ร.บ.พิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ก่อนที่ธัญญ์วาริน นักแสดง และผู้กำกับภาพยนตร์ จะตัดสินใจฟ้องศาลปกครอง จนภาพยนตร์ได้รับการออกฉายใน ปี พ.ศ.2560

นายอิทธิพลกล่าวว่า ภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่ถูกแบนก่อนได้รับการจัดฉาย และได้รับการขึ้นทะเบียนฯ ในปีนี้ คือ อาปัติ (พ.ศ.2558) ภาพยนตร์สยองขวัญ ที่กล้าหาญที่จะถ่ายทอดให้เห็นถึงพระแท้ และพระเทียมที่ปะปนกันอยู่ในสังคม เปรียบเสมือนปรอทวัดอุณหภูมิความอ่อนไหวของสังคมไทยที่มีต่องานศิลปะว่าด้วยพระพุทธศาสนา

นายอิทธิพลกล่าวต่อว่า มีบันทึกเหตุการณ์ของยุคสมัยในอดีต ได้แก่ BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS ที่ถ่ายทอดให้เห็นภาพรถเมล์ไทย และระบบขนส่งสาธารณะในช่วงสมัยปี 2501 มวยไทย (พ.ศ.2506) อันเป็น “ตำรามวยไทย” ของครูบัว วัดอิ่ม ครูมวยไทยสายโคราชคนสำคัญ ที่จัดทำขึ้นในรูปแบบภาพยนตร์เรื่องแรกเท่าที่มีการค้นพบ ส่วนหนังบ้านเรื่อง “ฟ้าเมืองไทย” ฉลองขึ้นปีที่ 8 พุธ 7 เมษา 19 (พ.ศ.2519) เป็นหนังของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียน และบรรณาธิการชั้นครู บันทึกภาพเคลื่อนไหวของนักเขียนคนสำคัญทั่วฟ้าเมืองไทย ในยุคที่วงการหนังสือเฟื่องฟูมากที่สุดยุคหนึ่งเอาไว้ได้อย่างมีชีวิตชีวา

Advertisement

นายอิทธิพลกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีหนังเรื่องอื่นๆ ได้แก่ “นางสาวโพระดก”ผลงานภาพยนตร์ปี พ.ศ.2508 ของ วิจิตร คุณาวุฒิ ศิลปินแห่งชาติด้านภาพยนตร์คนแรกของไทย สร้างจากบทประพันธ์ของ สุวัฒน์ วรดิลก นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และพิศมัย วิไลศักดิ์ “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” (พ.ศ.2536) ผลงานภาพยนตร์สะท้อนสังคมผ่านกรอบความเป็นหนังแฟนตาซี และเป็นบทบันทึกอารมณ์ และชีวิตพนักงานออฟฟิศชาวกรุงเทพฯ ในทศวรรษ 2530 เป็นขวัญใจนักวิจารณ์ที่กวาดรางวัลมากมาย และแจ้งเกิดให้แก่ผู้กำกับ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ส่วน “ฝัน บ้า คาราโอเกะ” (พ.ศ.2540) เป็นผลงานการกำกับเรื่องแรกของ เป็นเอก รัตนเรือง ที่ฉีกกฎเกณฑ์การเล่าเรื่อง และขนบหนังไทย โดยเฉพาะหนังแนววัยรุ่นที่กำลังได้รับความนิยมก่อนหน้านั้นอย่างสิ้นเชิง และสุดท้าย “พี่มาก..พระโขนง” (พ.ศ.2556) ภาพยนตร์สร้างประวัติการณ์ทำรายได้ทั่วประเทศทะลุถึงหนึ่งพันล้านบาท จากการตีความตำนานผีแม่นาคแห่งท้องทุ่งพระโขนงออกมาในรูปแบบที่ไม่เคยมีหนังแม่นาคเรื่องใดนำเสนอมาก่อน โดยเฉพาะการยั่วล้อภาษา และบรรยากาศแบบย้อนยุคในลักษณะทีเล่นทีจริง

“กิจกรรมขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ เป็นกิจกรรมสำคัญที่หอภาพยนตร์จัดขึ้นต่อเนื่องมาทุกปีตั้งแต่ปี 2554 โดยเมื่อรวมในปีนี้แล้วจะมีภาพยนตร์ทั้งหมด 200 เรื่อง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหอภาพยนตร์ได้เผยแพร่ภาพยนตร์บางส่วนลงใน youtube ของหอภาพยนตร์ และนำมาจัดฉายที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา นอกจากนี้ ตลอดเดือนตุลาคมนี้ ทุกท่านสามารถรับสูจิบัตรงานขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2562 ซึ่งได้บรรจุข้อมูลรายละเอียดของภาพยนตร์แต่ละเรื่องไว้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่หอภาพยนตร์” นายอิทธิพลกล่าว

15 ภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดเลือก มีดังนี้

1.ภาพยนตร์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.2469

2.(การเสด็จเลียบเมืองเหนือ ROYAL TOUR IN NORTHERN SIAM) (ส่วนที่ไม่ได้ใช้) (พ.ศ.2470)

3.ชมสยาม SEE SIAM (ไม่สมบูรณ์) (พ.ศ.2473)

4.เลือดชาวนา (เศษที่เหลืออยู่) (พ.ศ.2479)

5.ปิดทองหลังพระ (เศษที่เหลืออยู่) (พ.ศ.2482)

6.กะเทยเป็นเหตุ (พ.ศ.2497)

7.BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS (พ.ศ.2501)

8.มวยไทย (พ.ศ.2506)

9.นางสาวโพระดก (พ.ศ.2508)

10.ฟ้าเมืองไทย ฉลองขึ้นปีที่ 8 พุธ 7 เมษา 19 (พ.ศ.2519)

11.ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด CRAZY ME (พ.ศ.2536)

12.ฝัน บ้า คาราโอเกะ FUN BAR KARAOKE (พ.ศ.2540)

13.พี่มาก..พระโขนง PEE MAK (พ.ศ.2556)

14.อาปัติ KARMA (พ.ศ.2558)

และ 15.INSECTS IN THE BACKYARD แมลงรักในสวนหลังบ้าน (พ.ศ.2560)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image