ส่องเคส ‘ศธ.’ หาสูตรแก้วิกฤต ลูกจ้างชั่วคราว

เป็นประเด็นร้อน กรณีสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและเครือข่ายลูกจ้างชั่วคราว สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 65,000 คน บุกเรียกร้องความเป็นธรรมต่อ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หลังสำนักงานประมาณเปลี่ยนแปลงการจ้าง จากลูกจ้างชั่วคราวเป็นจ้างเหมาบริการ

ส่งผลให้เงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่เคยได้รับการจัดสรร ถูกตัด ลดสิทธิทุกอย่างที่เคยมี!!

ก่อนหน้านั้น ประเสริฐ บุญเรือง รักษาการปลัด ศธ.และ อำนาจ วิชยานุวัติ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รับปากหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อหาทางออก แต่สุดท้ายสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) กลับแจ้งยกเลิกสิทธิ และให้ลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนประกันสังคม

เป็นเหตุให้ตัวแทนเจ้าหน้าที่ธุรการและนักการภารโรงกว่า 1,000 คน รวมตัวถือป้ายขอความเป็นธรรม บุกมาถึง ศธ.เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา

Advertisement

โดยรักษาการปลัด ศธ.รับหน้าเสื่อคุยม็อบ รับปากใช้ตำแหน่งเป็นประกัน จะเร่งแก้ไขปัญหาให้ได้ภายใน 10 วัน ยืนยันว่าสิทธิใดที่เคยได้รับ จะต้องได้เท่าเดิม

ขณะที่ “ครูตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ย้ำจะรักษาประโยชน์ให้กับคนกลุ่มนี้ที่อยู่ในระบบ โดยเฉพาะคนที่มีความสามารถ และมั่นใจมีมากกว่า 95% ยังเป็นที่ต้องการของโรงเรียน โดย ศธ.ตั้งใจจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จะไม่ทิ้งใคร

แต่กระบวนการแก้ไขเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย และการบริหารจัดการของโรงเรียน ซึ่งอนาคตต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ ลดขั้นตอนการทำงาน ตรงนี้คือแนวทางการทำงานของรัฐบาลในการเดินไปข้างหน้า การทำงานของกระทรวงต่างๆ ต้องลดความซ้ำซ้อน ลดการใช้งบประมาณ

ผ่านไปไม่ถึง 2 วัน “ณัฏฐพล” นำทีมตั้งโต๊ะแถลงคืนสิทธิให้กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว แต่คืนเฉพาะสายสนับสนุน การปฏิบัติงานในสถานศึกษาสังกัด สพฐ.และ สพท.ซึ่งคือครูผู้ปฏิบัติหน้าที่ธุรการ ที่ได้รับอัตราเงินเดือน 15,000 บาท จำนวน 13,204 คน หากมีคนลาออก และมีอัตราว่าง ผู้ที่เข้ามาใหม่ จะถูกจ้างตามเงื่อนไขใหม่ คือจ้างเหมาบริการ

ส่วนที่เหลือคือกลุ่มลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือน 9,000 บาท ไม่สามารถจัดสวัสดิการตามที่เรียกร้องได้ เพราะหากทำตาม จะกระทบการใช้จ่ายงบในวงกว้าง เนื่องจากได้จัดทำงบรายจ่ายประจำปีงบ 2563 ไว้แล้ว

เมื่อผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ทางกลุ่มสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการ นำโดย วิชญ์ธพงศ์ พุ่มบุญภาคย์ จึงเตรียมเคลื่อนขบวนมา ศธ.อีกรอบ โดยเห็นว่าผลการหารือระหว่างสำนักงบประมาณ และ ศธ.ยังสับสนในตัวเลข ปัจจุบันมีลูกจ้างชั่วคราวซึ่งสำรวจแล้ว พบว่าตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 77,568 คน ถูกจ้างโดยสัญญาที่ไม่ชอบธรรม

ทำให้เกิดคำถามว่า หากคืนสิทธิให้กับกลุ่มเจ้าหน้าที่ธุรการเพียง 13,204 คน แล้วที่เหลือกว่า 64,000 คน จะดูแลอย่างไร

“ผู้ได้รับผลกระทบมีมากถึง 77,568 ราย คนกลุ่มนี้ทำงานมากว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2552 การแก้ปัญหาเช่นนี้ ไม่เป็นไปตามที่รักษาการปลัด ศธ.เอาตำแหน่งของตัวเองเป็นประกัน ซึ่งผมได้บอกไว้เช่นกันว่า ต้องคืนสิทธิให้ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ หลังวันที่ 25 ตุลาคม ถ้าไม่ได้รับคำตอบ ก็ต้องมาชุมนุมใหญ่เพื่อทวงถามอีกครั้ง คนเหล่านี้บางคนทำงานมากว่า 20 ปี ซึ่งได้สิทธิมาโดยตลอด หากตัดสิทธิประกันสังคม แล้วเบี้ยชราที่จะได้รับเมื่อเกษียณก็จะไม่ได้ เพราะสิทธิประกันสังคมขาดไปแล้ว อย่างน้อยวันนี้อยากได้ความชัดเจนว่าได้ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวกลับคืน” วิชญ์ธพงศ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนการจ้างของสำนักงบประมาณนั้น เป็นการดำเนินการในภาพรวม ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ขณะที่ข้อเรียกร้อง สิทธิ และความก้าวหน้าของกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว มีมาอย่างต่อเนื่องในหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กลุ่มลูกจ้างก็เคยออกมาเดินถนน เรียกร้องให้บรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานราชการ เพิ่มค่าเสี่ยงภัย และข้อเรียกร้องต่างๆ อีกมากมาย

ดังนั้น การแก้ปัญหาให้คนในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นการเฉพาะ จึงอาจทำให้เกิดปัญหาที่ “ใหญ่กว่า” ตามมา

สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า จากการลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ พบมาตลอดว่าครูธุรการและกลุ่มลูกจ้างประจำ มีปัญหาเรื่องความไม่มั่นคง ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน แต่เมื่อระบบที่ปรับเป็นการดำเนินการในภาพรวม ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงไม่ควรแก้เฉพาะจุด หรือมองเฉพาะ ศธ.เท่านั้น ต้องมองภาพรวมของประเทศ ซึ่งมีกลุ่มลูกจ้างกระจายอยู่ในทุกหน่วยงาน โดยกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัด และแต่ละพื้นที่เข้ามาช่วยดำเนินการ

คนกลุ่มนี้ถือว่ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานบริการประชาชนในหลายส่วน รัฐบาลต้องดูแลคนกลุ่มนี้ให้ได้รับการดูแลที่ดี แม้ปัจจุบันงบส่วนใหญ่จะใช้ไปกับการดูแลบุคลากรกว่า 80% แต่การเพิ่มงบดูแลคนกลุ่มนี้ ซึ่งคิดว่าใช้ไม่มาก คงไม่ถึงขึ้นทำให้เสียวินัยทางการคลัง ขณะที่รัฐบาลอาจใช้วิธีการปรับลดการใช้งบในส่วนที่ไม่จำเป็น เช่น งบด้านการทหาร หรืองบกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นต้น เพื่อให้มีงบมาจ้างคนกลุ่มนี้ให้ได้รับสวัสดิการ เป็นขวัญ และกำลังใจในการทำงานที่ดีขึ้น

“ขณะที่กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว หากได้รับการดูแลที่ดีแล้ว ก็ควรพัฒนาการทำงาน เพื่อดูแลประชาชนให้ดีขึ้นด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อได้รับการดูแล มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ก็ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม เรื่องนี้ต้องหาจุดพอดี หากคนกลุ่มนี้ได้รับสวัสดิการที่ดีแล้ว ก็ควรต้องมีการทำงานที่ดีตามไปด้วย” อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ สรุป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image