มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ เล็งยื่นอุทธรณ์-ขยายเวลาจ่ายชดเชย-บำนาญครูเกษียณฯ

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม นายนที สิทธิประศาสน์ แกนนำกลุ่มครูมีสิทธิ์ ศิษย์มีครู เปิดเผยว่า ตามที่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาให้มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย แก่ครูโรงเรียนอัสสัมชัญที่เกษียณ จำนวน 10 คน รวมเป็นเงิน 5.5 ล้านบาท และเงินบำนาญพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ครู ร.ร.อัสสัมชัญที่เกษียณ 4 คน รวม 1.3 ล้านบาท ภายใน 15 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น  ทราบว่า มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ ได้ให้ทนายขอขยายเวลาในการจ่ายเงินชดเชยและเงินบำนาญ รวมถึงขอขยายเวลาในการขอยื่นอุทธรณ์คดีออกไป ซึ่งศาลก็อนุญาตเพิ่มให้อีก 30 วัน ดังนั้น วันสุดท้ายจริงๆ ที่ต้องติดตามกันต่อในวันที่ 22 พฤศจิกายน  หากมูลนิธิฯ ขอยื่นอุทธรณ์จริง ทางครูเกษียณก็ไม่ต้องกังวล เพราะศาลแรงงานถือเป็น 1 ใน 5 ศาลคดีเฉพาะทาง ที่เมื่ออุทธรณ์แล้วจะไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ซึ่งอุทธรณ์ได้เฉพาะประเด็นว่า ศาลแรงงานพิพากษาขัดกับกฎหมายหรือระเบียบอะไรหรือไม่เท่านั้น ส่วนเรื่องข้อเท็จจริงและการสืบพยาน ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะไม่พิจารณาแล้ว เพราะถือว่าศาลชั้นต้นพิจารณามาดีแล้ว และการอุทธรณ์ก็ไม่น่ามีผลต่อคำพิพากษา

“ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ จะมีการปิดคดีเป็นล็อตๆ อย่างเร็วที่สุดคือ 3 เดือน หากไม่จบก็ 6 เดือน และช้าที่สุด คือ 9 เดือน คดีจะถึงที่สุด ส่วนที่กังวลว่าจะมีการยื่นไปศาลฎีกาต่อหรือไม่นั้น ต้องดูว่าศาลฎีกาจะอนุญาตหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นคดีเฉพาะทาง และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีผู้พิพากษาที่มีความชำนาญในเรื่องนั้นๆ อยู่แล้ว และที่วางระบบเช่นนี้ก็เพื่อไม่ให้คดีไปกองที่ศาลฎีกาเหมือนเช่นในอดีต จนต้องใช้เวลาในการตัดสินคดีนานหลายปี นอกจากนี้ ระหว่างอุทธรณ์หากมูลนิธิฯ ยังไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยและเงินบำนาญตามคำสั่งศาล ครูเกษียณทั้ง 14 ราย สามารถยื่นต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี และไปยื่นกรมบังคับคดีเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งอาจจะขอให้อายัดทรัพย์หรือบัญชีที่มี เพื่อนำมาจ่ายให้ครูเกษียณได้ ก็เป็นแนวทางที่วางไว้  ผมหวังว่าจะไม่มีการอุทธรณ์จะดีที่สุด และจ่ายเงินตามคำสั่งศาลเรื่องจะได้สิ้นสุด” นายนทีกล่าว

นายนที กล่าวต่อว่า จริงๆ ยังมีครูอีกหลายรายที่ได้รับผลกระทบ แต่กรณีครู 14 รายนี้เป็นรายที่คดีใกล้หมดอายุความ จึงดำเนินการฟ้องก่อน  หากครูที่เกษียณไปแล้วแต่ไม่ได้รับค่าชดเชยหรือเงินบำนาญ ไม่ว่าจะในอดีตที่คดียังไม่หมดอายุความ หรือเกิดกับครูรายใหม่ในอนาคต ก็สามารถไปฟ้องได้ เพราะมีคดีตัวอย่างแล้ว อย่างเรื่องของค่าชดเชยนั้น เนื่องจากครู ร.ร.โรงเรียนเอกชนไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550  ที่กำหนดเรื่องของสวัสดิการและการคุ้มครองการทำงานว่า จะต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ที่ผ่านมามักจะต้องมานั่งตีความว่า การเกษียณฯต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เคยทำหนังสือเวียนตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า โรงเรียนเอกชนเอกชนต้องจ่ายค่าชดเชยให้ครูเกษียณฯ เพราะถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด แต่นายจ้างพยายามบิดว่าการเกษียณไม่ใช่การเลิกจ้าง แต่เป็นการหมดอายุไปเอง ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 กำหนดชัดเจนว่า การเกษียณฯเท่ากับการเลิกจ้าง ดังนั้น กฎหมายโรงเรียน เอกชนที่โยงไปยังกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงชัดเจนว่าโรงเรียน เอกชนต้องจ่ายค่าชดเชย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image