‘แกนนำครู’ แต่งดำบุกสภาค้านปรับโครงสร้าง 5 พรรคเล็กหนุนแก้ พ.ร.บ.การศึกษาฯ

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 30 ตุลาคม ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา กว่า 1,000 คน แต่งชุดดำ ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … และการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมีนายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ  รองประธาน กมธ.การศึกษา วุฒิสภา รับเรื่อง โดยนายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) กล่าวว่า การมาในครั้งนี้เพื่อเรียกร้องใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ยื่นข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ซึ่งองค์กรครูทั่วประเทศได้เสนอสิ่งที่ต้องการ 4 ประเด็นหลัก คือ ต้องการขอคืนใบประกอบวิชาชีพครู กลับมาให้คุณครู เราไม่เอาใบรับรองความเป็นครู  เพราะมีการหมกเม็ดหลายอย่าง ขอคืนตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ไม่เอาตำแหน่งครูใหญ่ ขอพื้นที่ให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ ตามการให้โอนบุคลากรการศึกษาอื่นๆ ตามมาตรา 38ค (2) ซึ่งเขาไม่มีที่ยืนในพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ขอให้ได้รับความก้าวหน้าเหมือนตำแหน่งอื่นๆ  และขอให้การปรับโครงสร้างของศธ. จะไม่เป็นซิงเกิลคอมมานด์ ให้ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สั่งการเพียงผู้เดียว

นายธนชนกล่าวต่อว่า 2.ขอให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แยกงานบุคคลออกจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อให้ กศจ.มีเวลาในการทำงานประสานเชื่อมโยงการศึกษาให้มีคุณภาพ และคืนอำนาจการบริหารงานบุคคลให้กับ สพท. และจากการสำรวจความคิดครูทั่วประเทศ ประมาณ 63,277 คน พบว่า 96% ไม่ต้องการอยู่กับ กศจ. ขอมาอยู่กับเขตพื้นที่ หรือหน่วยงานอื่นๆ และ 3.ขอให้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องการบริหารงานบุคคล โดยเร็วที่สุด ไม่ต้องการรอ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เพราะผ่านมาหลายเดือนแล้ว ขอให้รัฐสภาและนายกรัฐมนตรี ออก พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2560 เรื่อง การบริหารงานบุคคลและบุคลากรทางการศึกษา คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

“เรามาด้วยใจ มาด้วยแรงกดดันหลายปี ที่ผ่านมาพี่น้องเพื่อนครูยื่นหนังสือตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข ครั้งนี้เป็นการแสดงเจตนารมณ์ต่อ ส.ส. หาก ส.ส.คนใดให้ความใส่ใจ องค์กรครูเราจะสนับสนุนตลอดไป” นายธนชนกล่าว

Advertisement

นายปรีชากล่าวว่า จะนำข้อเรียกร้องเข้าสู่กระบวนการศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดูข้อมูลว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง โดยจะพิจารณาสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายนโยบาย ผู้กำกับ ผู้ปฎิบัติ และผู้สนับสนุนต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรให้ลงตัว ทั้งในส่วนของการกระจายอำนาจ และความรับผิดชอบ ทุกคนต้องเข้ามาร่วมคิดร่วมทำ ร่วมพิจารณาว่าจะเป็นอย่างไร

“ประเด็นของทุกคนจะไม่ถูกทิ้ง จะต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อนำพาประเทศชาติ โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลาง อย่างเรื่องใบรับรองความเป็นครู เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้เป็นใบแรกในการเข้าเป็นครู ที่บอกเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าจะปฏิเสธ ข้อเรียกร้อง แต่เป็นการการันตีว่า ได้คนที่มีคุณภาพอย่างแท้จริงมาเป็นครู ไม่ใช่ใครก็ได้  และใช้ใบรับรองดังกล่าวเป็นตัวดันวิทยฐานะ ถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้วิทยฐานะไม่หายไป ไม่ถูกลด แต่อยู่สูงกว่าเดิม ในส่วนผู้อำนวยการ ทุกคนมองว่าดีอยู่แล้ว ดีอย่างไร ต้องมีการพิจารณาถึงการเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนจะส่งผลกระทบต่อนักเรียนหรือไม่ รวมถึงต้องมองโลกข้างหน้าว่าไปถึงไหนกันแล้วอะไรที่ดีเราก็จะรักษาไว้แต่ต้องดูองค์ประกอบการในภาพรวม อย่างไรก็ตาม การจะนำพาประเทศไปสู่การปฎิรูปโดยใช้การศึกษาในการสร้างคนได้นั้น ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน และดูองค์ประกอบอื่นๆ โดยยึดหลักการกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของทุกคน ซึ่ง ส.ว.พร้อมรับฟังปัญหาของทุกคน” นายปรีชากล่าว และว่า ส่วนข้อเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2560 เรื่อง การบริหารงานบุคคลและบุคลากรทางการศึกษา คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ นั้น คำสั่ง คสช.ถือเป็นกฎหมายชนิดหนึ่ง ต้องมาดูเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าเปรียบเทียบโครงสร้าง ดูข้อดี ข้อเสีย และวิเคราะห์ว่า จะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

ด้านนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า ทั้ง 5 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคประชาธรรมไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน รวมถึงพรรคฝ่ายค้านอิสระ มาร่วมรับฟังปัญหา และรับข้อเสนอของกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งแต่ละพรรคก็ได้ติดตามเรื่องนี้มาตลอด และเห็นด้วยกับข้อเสนอของทางบุคลากรครูทางการศึกษา ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ควรทำเรื่องอื่น ไม่ใช่ทำเรื่องการปรับโครงสร้าง การบริหารโรงเรียน เขตการศึกษาที่ดีต้องกระจายอำนาจไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จ

“การรับหรือไม่รับร่างหลักการดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ ส.ส. ซึ่งถ้าร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอโดยรัฐบาลทั้งที่เป็นสิ่งที่บุคลากรทางการศึกษาไม่พอใจ และกลุ่ม 5 พรรคก็เห็นต้องกันว่าจะไม่รับหลักการดังกล่าว เมื่อเกิดการรวมตัวของ5 พรรค ซึ่งมีทั้งหมด 8 เสียงที่จะไม่รับหลักการดังกล่าว หากรัฐบาลยังเสนอย่อมส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลมีเสียง 250 เสียง ถ้าตัดไปอีก 8 เสียง รัฐบาลก็แพ้ และถ้ารัฐบาลเสนอและแพ้ตั้งแต่รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งหมดต้องลาออก คาดว่ารัฐบาลไม่กล้าเสี่ยงเสนอในสิ่งที่บุคลากรทางการศึกษาไม่พอใจแน่นอน“ นายมงคลกิตติ์กล่าว

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า การที่กลุ่มแกนนำครูไปยื่นหนังสือต่อ ส.ว.และ ส.ส. ที่รัฐสภานั้น ถือเป็นสิทธิ เป็นโอกาสที่จะแสดงออกในเรื่องต่างๆ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตนได้บอกไปแล้วว่า ไม่ว่าจะส่งเรื่องมากี่เรื่อง หรือมากี่คน ตนก็มุ่งมั่นในการทำงานเหมือนเดิม รับทราบปัญหาทุกเรื่องและพยายามแก้ไขให้เร็วที่สุด บางเรื่องอาจต้องใช้เวลา ตนเพิ่งเข้ามาทำงาน 3 เดือน ต้องตรวจสอบทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image