จุฬาฯ ผนึกกรมป่าไม้ ผุดแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพใช้เพาะชำกล้าไม้ทดแทนถุงพลาสติก

ศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาฯ ร่วมมือกับกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อยอดการนำแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ หรือ zero-waste cup ที่ใช้แล้ว ซึ่งย่อยสลายได้ในดิน ไปใช้ทดสอบเพาะชำกล้าไม้ เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และผลักดันการกำจัดขยะในรั้วจุฬาฯ อย่างครบวงจร ตอกย้ำภาพผู้นำด้านการจัดการขยะของประเทศ โดยพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะมูลฝอย จึงได้จัดโครงการ Chula Zero Waste เพื่อป้องกันหรือลดขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) ทำให้ในปัจจุบันโรงอาหารภายในจุฬาฯ กว่า 17 แห่ง ได้เปลี่ยนมาใช้แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ 100% แก้วดังกล่าวสามารถย่อยสลายได้ทั้งหมดภายใน 4-6 เดือน ซึ่งนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดินได้

“โครงการทดสอบแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพสำหรับการเพาะชำกล้าไม้นี้ จะนำแก้วที่ใช้แล้วจากโรงอาหารของจุฬาฯ ไปใส่ต้นไม้ที่ กรมป่าไม้จะปลูกทดแทนถุงพลาสติก นับเป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด และถือเป็นการกำจัดขยะพลาสติก ซึ่งสนับสนุนแนวคิดการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ หรือ PETROMAT ร่วมมือกับกรมป่าไม้ในการขับเคลื่อนให้โครงการนี้เดินหน้าได้ต่อไป” ศ.ดร.บุญไชย กล่าว

นายปรมินทร์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในการส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้น โดยมีความต้องการเพาะกล้าไม้คุณภาพดีปีละ 100 ล้านต้น ต้นไม้ที่ปลูกยิ่งมีอายุมากก็ยิ่งมีคุณค่า ในแต่ละปีมีการใช้ถุงพลาสติกปลูกกล้าไม้จำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมากรมป่าไม้ได้มองหาแนวทางในการลดการใช้ถุงพลาสติกดังกล่าว ดังนั้น การนำแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่ผ่านการใช้งานแล้วจากจุฬาฯ มาทดสอบการย่อยสลายในดิน สำหรับนำไปใช้เพาะชำกล้าไม้แทนถุงพลาสติก จึงเป็นโครงการนำร่องที่ดี ความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับกรมป่าไม้ในครั้งนี้มีระยะเวลาการดำเนินงาน 1 ปี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการลดขยะพลาสติก และเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนรักษาสิ่งแวดล้อม

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image