‘สุจิตต์-ขรรค์ชัย’ งัดพงศาวดารยัน ‘ชากังราว’ ไม่ใช่ ‘กำแพงเพชร’ สะดุ้ง! เจอหนุ่มบุกมอบ ‘เฉาก๊วยชากังราว’

จบลงแล้วสำหรับการถ่ายทอดสดรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ซึ่งในเดือนตุลาคม ทั้ง 2 ท่านเดินทางไปยังจังหวัดกำแพงเพชร โดยในตอนหนึ่ง มีการหยิบยกหลักฐานบ่งชี้ว่า ชากังราว ชื่อเมืองโบราณในเอกสารโบราณนั้น ไม่ใช่กำแพงเพชรดังที่เคยเข้าใจกันมานาน แต่ชากังราว อยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์

ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ เปิดเผยรายละเอียดดังนี้

เมืองกำแพงเพชรอยู่น้ำแม่ปิง เมืองชากังราวอยู่แม่น้ำน่าน เป็นคนละเมืองคนละแม่น้ำ ไม่ใช่เมืองเดียวกันตามที่เคยเชื่อถือกันมานาน

อ. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณคดีไทย กรมศิลปากร) แสดงหลักฐานแล้วอธิบายรายละเอียดไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม (ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2539 หน้า 180-188)

Advertisement

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวถึงเมืองชากังราวเป็นครั้งสุดท้ายในเรื่อง ราวเมื่อ พ.ศ. 1994 โดยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนั้นว่าพระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ลงมายึดเมืองชากังราว และจะเข้ายึดเมืองสุโขทัย แต่ทำไม่สำเร็จจึงยกทัพกลับคืนไป

หนังสือ พงศาวดารโยนก โดยพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค), ตำนาน 15 ราชวงศ์, หนังสือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับพิมพ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ได้เล่าเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 1994 ไว้ตรงกัน

เอกสารของล้านนาได้ชี้ให้เห็นเส้นทางการยกทัพของพระเจ้าติโลกราชว่าพระองค์มาจากเขตล้านนาทางเมืองแพร่หรือเมืองน่าน ซึ่งจากทั้งสองเมืองเมื่อผ่านพื้นที่เขาสูงของล้านนาแล้วก็จะถึงที่ราบแห่งแรกคือทุ่งย้างเมืองฝาง (จ. อุตรดิตถ์) ที่อยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน

Advertisement
ภาพจากกรมศิลปากร

เอกสารของล้านนาที่เล่าเหตุการณ์ตอนนี้เป็นหลักฐานที่สอดคล้องกับเอกสารของกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ การบอกศักราชของเหตุการณ์เดียวกันเมื่อ พ.ศ. 1994 เป็นเรื่องสงครามครั้งแรกระหว่างพระเจ้าติโลกราชกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหมือนกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องมาพิจารณาข้อความที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้อย่างรวบรัดว่า “…มหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้…” ในขณะที่เอกสารล้านนาเล่าเรื่องอย่างละเอียดว่า พระเจ้าติโลกราชได้เมืองในลุ่มแม่น้ำน่านตั้งแต่เหนือไปใต้ คือเมืองทุ่งยั้งในเขต จ. อุตรดิตถ์เมืองสองแควใน จ. พิษณุโลกและเมืองปากยมในเขต จ. พิจิตร

แสดงว่าเมืองชากังราวควรอยู่ระหว่างเมืองทุ่งยั้งกับเมืองสองแควมากกว่า (คืออยู่เหนือเมืองสองแควขึ้นไป) ได้แก่ เมืองพิชัย อ. พิชัย จ. พิษณุโลก

ทั้งนี้ ระหว่างที่ขรรค์ชัยและสุจิตต์กำลังเปิดเผยรายละเอียดข้างต้น มีนักศึกษาหนุ่มรายหนึ่ง นำ ‘เฉาก๊วยชากังราว’ มามอบให้ ทราบต่อมาว่าชื่อนาย กิตติ สุวัฒนามังกร นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ซึ่งได้ทราบข่าวว่ามีการถ่ายทำรายการจึงนำเฉาก๊วยและขนมอื่นๆมามอบให้ เนื่องจากติดตามรายการมานาน เพราะสนใจประวัติศาสตร์

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ รับมอบเฉาก๊วย โดยระบุว่า แม้ชากังราวไม่ใช่กำแพงเพชร แต่ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อยี่ห้อเฉาก๊วยแต่อย่างใด ขอให้รับรู้ไว้เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็เพียงพอแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image