สพฐ.ยกเครื่องพัฒนาแม่พิมพ์ เล็งโยกงบลงเขตพื้นที่ ให้ ‘สพท.-ร.ร.’ ส่งหลักสูตรให้คุรุสภากรอง

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการอบรมพัฒนาครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า เท่าที่ทราบ ในปี 2562 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่มีงบประมาณในส่วนพัฒนครู เนื่องจากต้องจัดสรรเพื่อเจ้าหน้าที่ธุรการ และนักการภารโรง แต่ในปี 2563 สพฐ.ได้ตั้งงบในส่วนนี้ไว้แล้ว แต่จะไม่ใช้ชื่อโครงการการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร พัฒนาครู คูปองครู เช่นเดิม โดยค่าใช้จ่ายในการพัฒนาครูจะลดลง ไม่ถึงรายละ 10,000 บาทอย่างโครงการคูปองครู แต่มีงบเฉพาะ ซึ่งเดิมไม่มี ส่วนจะเป็นเท่าไร และใช้ชื่อโครงการในการพัฒนาครูว่าอย่างไรนั้น ไม่สามารถบอกได้

นายเอกชัยกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่จำเป็นต้องอบรมกับหน่วยจัดอบรมเท่านั้น โดยที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือเรื่องดังกล่าว และเห็นว่าต่อไปคณะอนุกรรมการรับรองความรู้คุรุสภา จะพิจารณาหลักสูตรการพัฒนาครูที่จัดโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) หรือโรงเรียนด้วย แต่จะต้องส่งหลักสูตรการพัฒนามาให้คุรุสภากลั่นกรอง และนับชั่วโมงให้ เช่น อบรมหลักสูตร 3 วัน นับ 18 ชั่วโมง เป็นต้น ฉะนั้น ใครเข้าพัฒนาในหลักสูตรใด จะต้องส่งรายชื่อมาให้คุรุสภาเพื่อนับชั่วโมงเข้าระบบ เมื่อมาต่อใบอนุญาตฯ กับคุรุสภา ข้อมูลทั้งหมดจะแสดงขึ้นมาทันทีว่าเรียนอะไรมาแล้วบ้าง ครบหรือไม่ครบ ระบบที่ดีควรจะเป็นแบบนี้

“โครงการคูปองครูอาจจะยกเลิกไป แต่การพัฒนาครูยังมีอยู่ และอาจต้องเปลี่ยนวิธีการ ให้เงินลงไปที่เขตพื้นที่ฯ ไม่ใช่ให้ครูปช้อบปิ้งหลังสูตรเหมือนเดิมแล้ว ส่วนตัวเห็นว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้อง เพราะการให้ครูไปช้อปหลักสูตรเอง ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองงบ ขณะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็อยากให้นำระบบการพัฒนาครูเข้าสู่แพลตฟอร์มระบบออนไลน์ เพื่อให้เห็นว่าอบรมจริง ทำจริง และเชื่อมโยงกับการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะด้วย” นายเอกชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image