‘ณัฏฐพล’ ปิ๊งเพิ่ม ‘สพม.’ ครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่โรงเรียนวัดกร่างทองราษฎร์บูรณะ จ.กาญจนบุรี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ด้านการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน และประชุมติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบาย และแนวทางที่ชัดเจนว่า ประเทศต้องปฏิรูปการศึกษา สังเกตได้จากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการศึกษาในทุกด้าน เพื่อพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพ ตนมั่นใจว่าประเทศมีศักยภาพ มีโอกาสที่จะต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ แต่สิ่งที่ทำให้ประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ คือการศึกษา ถ้าการศึกษาไม่มีความพร้อม จะไม่สามารถพัฒนาประเทศต่อไปได้

นายณัฏฐพลกล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้เป็นประเด็นหลักที่มอบนโยบาย เพราะการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ขึ้นอยู่กับพื้นที่ในการบริหารจัดการ และขึ้นอยู่กับโจทย์การศึกษาที่ ศธ.ได้วางแผนไว้ คือไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดใดก็ตาม การศึกษาต้องมีคุณภาพเท่าเทียมกัน ส่วนความคืบหน้าการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้ สพฐ.พิจารณาดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีระยะทางห่างจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตรนั้น ขณะนี้ สพฐ.รายงานว่า ได้เริ่มต้นพัฒนาการศึกษาจากโรงเรียนที่ไม่สามารถควบรวมได้ หรือไม่มีโอกาสควบรวมก่อน ซึ่งมีประมาณ 3,100 แห่ง ในจำนวนนี้อาจจะอยู่ในที่ห่างไกล เกาะแก่ง เป็นต้น ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี โดย สพฐ.จะจัดอัตราครูที่เหมาะสมเข้าไป เพื่อให้โรงเรียนเหล่านี้มีคุณภาพ ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่เหลือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะดูความเหมาะสม ว่าสามารถจัดการควบรวมได้หรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว อาคาร หรืออุปกรณ์การเรียน และทรัพยากรต่างๆ ต้องถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่า เช่น อาจจะพัฒนาอาคารที่ว่างเป็นศูนย์เด็กเล็ก หรือเป็นศูนย์บ้านพักคนชราของชุมชน หรืออาจจะพัฒนาให้เป็นอาคารของรัฐวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น โดยดูถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นหลัก

“ได้เน้นย้ำนโยบายที่ ศธ.วางแผนไว้ในเรื่องต่างๆ เช่น การให้โรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศมีอินเตอร์เน็ตได้ใช้ภายในปีการศึกษา 2563 พัฒนาโรงเรียนสองภาษาให้มีมากที่สุด ส่วนการบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ปัญหาครูที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้สิน วิทยฐานะ การใช้เวลาในห้องเรียนให้มากขึ้น ทุกเรื่องคือการบรูณาการการศึกษาไทย ซึ่งผมได้เน้นย้ำผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง และพื้นที่ ให้เข้าใจแนวทางการดำเนินงานของ ศธ.ว่าการศึกษาไทยหากจะพัฒนาต่อไปข้างหน้าได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามแผนที่ ศธ.วางเอาไว้ เท่าที่สัมผัสจากการลงพื้นที่ ยืนยันได้ว่าเด็กไทยมีศักยภาพหากได้รับโอกาส การถ่ายทอดความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เด็กเหล่านี้จะเป็นผู้นำในด้านความคิดสร้างสรรค์ได้ แต่ ศธ.ต้องปรับหลักสูตรเพื่อให้เด็กแสดงออกทักษะในการคิด การใช้ชีวิตได้” นายณัฐพล กล่าว

Advertisement

นายณัฏฐพลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กังวลเรื่องการเรียนการสอนของนักเรียนระดับชั้นมัธยม ที่ขาดแคลนครูที่มีความสามารถในการสอนด้านคอมพิวเตอร์ ด้านนวัตกรรม และด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ ศธ.ต้องหาทางว่าจะเพิ่มบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้ได้อย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าโรงเรียนไม่มีครูที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง จะไม่สามารถกระจายความรู้ให้เด็กได้ เรื่องนี้นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ.และนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ.จะต้องหารือร่วมกันเพื่อดูอัตราบรรจุครูที่มีอยู่ของ ศธ.ว่ามีหรือไม่ และจะเชื่อมต่อการผลิตครูที่มีทักษะเหล่านี้ ระหว่าง ศธ.และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อย่างไร ซึ่งขณะนี้ตัวเลขความต้องการครูด้านเทคโนโลยียังไม่แน่นอน เพราะโรงเรียนแต่ละแห่งมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน แต่ ศธ.จะพยายามให้โรงเรียนแต่ละแห่งมีครูสอนที่ตรงสายงานมากที่สุด ซึ่งในอนาคตจะผลักดันให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลให้ได้ เพื่อให้โรงเรียนมีอิสระในการคัดเลือกครูเข้ามา แต่ต้องควบคุมไม่ให้โรงเรียนออกนอกกรอบนโยบายของ ศธ.ด้วย

“นอกจากนี้ ได้ทำความเข้าใจเรื่องการปรับโครง ศธ.ว่าอะไรที่มีความทับซ้อนกันต้องมาพิจารณา ต้องนำผลประโยชน์ครู และนักเรียน เป็นที่ตั้ง แต่ขอให้มั่นใจว่าจะไม่มีใครได้รับผลกระทบ ผลตอบแทนทุกอย่างยังได้เช่นเดิม เรื่องโครงสร้างต้องเอาความจริงมาพูดกัน เช่น สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (สพม.) ที่ปัจจุบันมีเพียง 42 แห่งทั่วประเทศ ผมคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมี สพม.ครบทั้ง 77 จังหวัด เป็นต้น โจทย์ปัญหาเหล่านี้ทุกภาคส่วนต้องมาผลักดันสู่ภาคปฏิบัติ ศธ.ต้องการทำนโยบายที่เป็นรูปธรรม หากใครคิดว่าการศึกษาไทยมีความพร้อมในการตอบโจทย์รัฐบาลแล้ว เราอาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ ทั้งนี้ เชื่อว่าทุกภาคส่วนสามารถพลิกการศึกษาได้” นายณัฏฐพล กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image