จากแสนห้าเหลือห้าพัน ‘ยุกติ’ คาใจ ‘วิจิตรศิลป์ มช.’ ตัดงบงานยักษ์ น.ศ.ประท้วงวุ่น

ภาพจากเพจ MEDIA ARTS AND DESIGN FESTIVAL

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน สืบเนื่องกรณีนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) รวมตัวประท้วงยื่นหนังสือเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ เนื่องจากตัดงบประมาณการจัดงาน Media Arts and Design Festival 2019 ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 18-22 พ.ย. นี้ด้วยงบ 150,000 บาท เหลือเพียง 5,000 บาท

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับ ‘มติชน’ ถึงประเด็นดังกล่าว ว่า วันนี้ตนในฐานะผู้ปกครองของหลานสาวซึ่งเป็นนักศึกษาคณะดังกล่าวได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัย โดยมีผู้ปกครองรายอื่นๆ ที่ต่างตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากงานดังกล่าวถือเป็นงานใหญ่และเป็นหน้าเป็นตาของคณะ ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องทุกปีเป็นเวลานานนับ 10 ปี แต่ในปีนี้เหตุใดจึงตัดงบประมาณจนไม่สามารถจัดงานได้ สิ่งที่ใหญ่กว่าการตัดงบจนต้องยกเลิกการจัดงานคือ การที่คณบดีคนปัจจุบันที่เพิ่งเข้ามาทำงานเพียง 10 เดือน ไปก้าวล่วงในระเบียบการจัดการงบประมาณ กล่าวคือ ใน มช.มี 6 หลักสูตรที่ถูกตั้งขึ้นในช่วงที่มีการผลักดันให้มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรที่ดำเนินอยู่ได้ด้วยตัวเอง 100% ไม่ได้ใช้งบประมาณจากภาครัฐเลย ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าบริหารจัดการ ค่าครุภัณฑ์ เงินเดือนบุคลากร รวมถึงกิจกรรมนักศึกษา ทางหลักสูตรจะต้องบริหารเองทั้งหมด ถือเป็นข้อยกเว้นที่ 6 หลักสูตรนี้จะต้องบริการจัดการเช่นนี้ แต่ล่าสุดกลับใช้ระเบียบการบริหารหลักสูตรทั่วไป ซึ่งเก็บค่าลงทะเบียนรายภาคการศึกษา 15,000 บาท ในขณะที่หลักสูตรพิเศษมีเกณฑ์อีกแบบหนึ่ง คือเก็บค่าใช้จ่ายรายภาคสูงกว่า อย่าง มีเดีย อาร์ต เก็บภาคการศึกษา 30,000 บาท หากเป็นเช่นนี้ ต้องตั้งคำถามว่า การดึงงบประมาณทั้งหมดไปบริหารจัดการเองนั้นเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ทำตามแผนของภาควิชา กระทั่งไม่สามารถจัดงานสำคัญได้

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ภาพจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

“งานนี้จัดมาเป็น 10 ปีแล้ว คิวเรเตอร์ (ภัณฑารักษ์) ที่มาชมงานนี้ ไม่ใช่เฉพาะระดับประเทศ แต่เป็นระดับนานาชาติ เป็นงานที่จะทำให้นักศึกษาได้แสดงผลงานตัวเอง เหมือนเป็นงานก่อนจบการศึกษา เป็นงานยุคใหม่ที่ก้าวหน้า นอกจากงานของนักศึกษาชั้นปี 4 ยังแสดงงานของนักศึกษาทุกชั้นปีร่วมด้วย เพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมเรียนรู้ เป็นงานที่เป็นจุดพีคของคณะ คิดง่ายๆ เลยว่าผู้ปกครองหลักสูตรนี้จ่ายเงินมากกว่า แล้วเอาเงินไปทำอะไร ยิ่งพอได้ฟังกระบวนการก็ยิ่งรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง ถ้าใครเป็นผู้ปกครองของนักศึกษาที่จะจบปีนี้แล้วอยู่ๆ คณะให้งบเพียงเท่านี้ ให้แต่พื้นที่ซึ่งคิดค่าเช่าด้วย จะรู้สึกอย่างไร แค่ค่าเช่าก็ 9,500 บาทแล้ว แต่ให้งบ 5,000 แบบนี้ไม่ไหว ผู้ปกครองหลายคนเดือด” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

รศ.ดร.ยุกติกล่าวว่า งานดังกล่าวอยู่ในช่วงต้นปีงบประมาณ โดยเป็นงานแรกในปีงบประมาณใหม่ ดังนั้น ถามว่าหากต้นปีมีปัญหาเช่นนี้ แล้วกิจกรรมนักศึกษาในช่วงเวลาต่อไปจากนี้จะเป็นอย่างไร

Advertisement

“ในฐานะผู้ปกครองมองเห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น เพราะหลักสูตรนี้อยู่ในเงื่อนไขเฉพาะอย่างที่กล่าวมาแล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร ถามว่าธรรมาภิบาลคืออะไร เราต้องตั้งคำถามกับการจัดลำดับมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติแล้ว ว่าคุณไม่ได้ตรวจสอบธรรมาภิบาลหรือไม่ ในฐานะผู้ทำงานบริหารมหาวิทยาลัย ผมมองว่าลักษณะเช่นนี้ไม่โปร่งใสแน่นอน ถ้ามีปัญหาต้องพร้อมตอบคำถามนักศึกษา แต่ผู้บริหารคณะกลับหลบเลี่ยง ถามไปไม่ตอบ ไม่พูดอย่างเป็นสาธารณะ ไม่เป็นกิจจะลักษณะซึ่งเป็นปัญหาแน่นอน” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image