ระบบการศึกษาไทยที่รอพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย? : โดย เศรษฐา ทวีสิน

เมื่อใดก็ตามที่มีคนพยายามชักนำเข้าสู่บทสนทนาเกี่ยวกับ ระบบการศึกษาไทย ไม่ว่าจะวงสนทนานั้นจะเป็นคนเจเนอเรชั่นไหน X หรือ Y หรือ Z ก็ตามผมเชื่อว่าได้เห็นคนเบะปากกันเป็นแถว ไม่รู้จะวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร เริ่มต้นไม่ถูกเพราะมันน่า “วิแคะ” ไปเสียทั้งหมด เป็นหัวข้อคลาสสิกที่ถูกเปรียบเทียบกับการพัฒนาและความแตกต่างจากระบบของประเทศอื่นๆ มาแทบทุกทวีปแล้วล่ะครับผมว่า แม้ว่าในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา เวลารัฐบาลไม่ว่าชุดไหนจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี กระทรวงศึกษาธิการจะเข้าวินมาอันดับหนึ่งทุกครั้ง แต่เราเองก็รู้ดีอยู่เต็มอกว่ามันไม่ไปไหน ยังย่ำอยู่ที่เดิมหรือค่อยๆ ถอยหลังนิดๆ เสียด้วยซ้ำ

ผมชวนคุยเรื่องนี้ในบทความนี้ไม่ได้อยากจะเป็นอีกเสียงหนึ่งที่พยายามหาข้อติติงหน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบหรือบรรดานักการเมืองจากพรรคต่างๆ ที่เข้ามากุมบังเหียนในการควบคุมกระทรวงศึกษาธิการและนโยบายต่างๆ ด้านการศึกษาหรอกครับ เพราะต้องบอกว่าเรื่องนี้มีคนวิจารณ์กันเยอะแล้ว และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสีไหน ยุคไหน ก็ไม่มีใครได้รับคำชมหรอกครับ

ความซับซ้อนและปัญหาต่างๆ มันฝังรากลึกและโครงสร้างรายจ่ายของงบประมาณที่ได้ในแต่ละปีคาดว่ากว่าร้อยละ 80 ก็จะถูกใช้กับค่าใช้จ่ายประจำไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนข้าราชการครู ค่าจ้าง ค่าอบรม ค่าสาธารณูปโภคน้ำ ไฟ ฯลฯ ทำให้เหลืองบที่จะนำไปใช้กับการพัฒนาอย่างอื่นค่อนข้างจะน้อย เกิดอะไรใหม่ๆ ที่จะพลิกสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้ยาก จะหันไปหานักการเมืองก็พึ่งไม่ได้ มาๆ ไปๆ นโยบายเปลี่ยนไปมาไม่มีความยั่งยืนในการพัฒนาแนวทางต่างๆ ซึ่งจะว่าเค้าก็ไม่ถูกเพราะนี่คือระบบการเมืองของไทยเรา

ในฐานะที่ผมอยู่ในภาคส่วนธุรกิจเลยคิดว่าแทนที่จะคอยวิจารณ์ฝ่ายนั้นฝ่ายนี้แล้ว พวกเราเองก็น่าจะหันกลับมาดูว่าภาคธุรกิจเองมีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง แทนที่จะหวังพึ่งส่วนราชการและการเมืองแต่อย่างเดียว แล้วอะไรล่ะที่เราพอจะช่วยกันได้แบบเร็วๆ และใกล้ตัวที่สุด

Advertisement

คำตอบในใจผมก็คือเรื่องของการบริจาคให้กับภาคการศึกษาครับ

ในโลกตะวันตก การบริจาคเงินจาก บุคคล หรือองค์กร ที่มีจิตกุศล มีมาคู่กับการศึกษาโดยเฉพาะในภาคอุดมศึกษามานานหลายร้อยปีแล้วครับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือประเทศสหรัฐอเมริกาครับ และเป็นที่น่าอัศจรรย์เวลาเราพูดถึงมูลค่าเงินบริจาคแต่ละปีในเรื่องนี้ที่ มหาเศรษฐีจิตกุศล ในสหรัฐ เค้าควักให้กับสถาบันต่างๆ

ผมยังเคยคุยกับเพื่อนต่างชาติชาวสหรัฐเลยว่า ถ้าเราคิดว่าการศึกษาคืออนาคตของชาติ สหรัฐจะมีประธานาธิบดีแบบทรัมป์อีกกี่สมัยก็ไม่ต้องกลัวว่าอนาคตประเทศจะพังพินาศ เพราะพื้นฐานของการศึกษาเค้าแข็งแกร่งเหลือเกิน ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากเงินบริจาคที่หมุนเวียนในระบบการศึกษาของเค้าเป็นแสนแสนล้านต่อปีที่ส่งเข้าไปยังสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ ที่สร้างทั้งนักสถิติ นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ฯลฯ ที่จะออกมาสร้างอนาคตอันแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจและนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าได้เร็วและไวกว่าชาติอื่น

Advertisement

ว่ากันว่าประมาณ 1 ใน 3 ของงบประมาณการวิจัยในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐมาจากเงินบริจาคเหล่านี้ ซึ่งเมื่อเงินบริจาคมาจากภาคธุรกิจที่กล้าได้กล้าเสียก็มักจะถูกส่งไปให้ยังนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ หัวทันสมัย และใช้ไปกับการวิจัยและทดลองเรื่องก้าวหน้า ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ต่างจากงบประมาณส่วนกลางที่ใช้เรื่องธรรมดาๆ ส่งผลให้ของและแนวคิดที่ได้ถ้าประสบความสำเร็จก็สร้างมูลค่าเป็นทวีคูณของงบที่ได้

ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างฮาร์วาร์ด มีการรับบริจาคจากภาคธุรกิจมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1643 แล้ว โดยปัจจุบันมูลค่าของกองทุนที่สนับสนุนนักศึกษาในสถาบันนี้มีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านเหรียญ (กว่าล้านล้านบาท!) และว่ากันว่าในปัจจุบันเม็ดเงินที่ไหลเข้ามานั้นมากถึงประมาณกว่า 3 ล้านเหรียญต่อวันเลยทีเดียวครับ เรียกได้ว่ามีเงินใช้สนับสนุนการศึกษาและทำงานวิจัยกันไม่ขาดเลยทีเดียว

สถาบันการศึกษาชั้นนำเหล่านี้หลายแห่งในสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นที่เก่งด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ก็ใช้ชื่อสกุลของ ผู้มีจิตกุศล ที่บริจาคเงินหรือมีส่วนช่วยก่อตั้งสถาบันศึกษานี้เป็นชื่อของตน อย่างฮาร์วาร์ดก็มาจากชื่อของนายจอห์น ฮาร์วาร์ด ที่บริจาคเงินก้อนแรกๆ ให้กับสถาบันแห่งนี้

แล้วอภิมหาเศรษฐีภาคธุรกิจของไทยเราจะทำแบบนี้กันบ้างไม่ได้หรือครับ

ผมว่าประเทศไทยเราก็มีมหาเศรษฐีไม่น้อยนะครับ ติดอันดับ Fortune อะไรต่อมิอะไรก็เห็นชื่อกันอยู่ ไม่ใช่แค่หลักพันล้านแต่เป็นหมื่นล้านแสนล้านก็ไม่แพ้ต่างชาตินะครับ แต่ผมยังไม่เคยเห็นการบริจาคให้กับการศึกษาเป็นหลักร้อยล้านหรือพันล้านเลยครับ จะเห็นก็แค่หลักสิบล้าน ที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง ปีละครั้ง เอาเข้าจริงๆ ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีใครกล้าที่จะลงทุนจริงๆ จังๆ กับเรื่องการศึกษาเสียเท่าไหร่

ท่านอภิมหาเศรษฐีท่านไหนอ่านบทความนี้ลองนึกไตร่ตรองดูนะครับว่าท่านช่วยเป็นส่วนหนึ่ง (ที่ใหญ่มาก) ในการผลักดันความก้าวหน้าในระบบการศึกษาของไทยได้ไหม สวมหมวกครีเอทีฟหน่อย อย่าไปคิดว่าระบบอุดมศึกษาของไทยเรามันล้าสมัย ใส่เงินเข้าไปแล้วก็คงจมหายไปกับเช้าชามเย็นชาม

ผมเชื่อว่ามีนักวิจัย อาจารย์รุ่นใหม่ๆ หลายท่านกำโปรเจ็กต์วิจัยที่น่าสนใจไว้ในมือหลายคนในระบบของเรา แต่ยังไม่พร้อมที่จะท้าทายกรอบเดิมๆ ของงบส่วนกลาง พวกท่านนี่แหละครับที่อาจจะต้องทำงานร่วมกับคนพวกนี้ สนับสนุนให้เค้ากล้าเอาเงินที่ท่านบริจาคไปทุ่มกับงานวิจัยใหม่ๆ ด้านดาต้า เทคโนโลยี การแพทย์ ฯลฯ อันจะไปพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องให้กับประเทศชาติของเราอย่างที่เค้าทำกันในสหรัฐ

หรือแม้กระทั่งช่วยปรึกษาอาจารย์ ศาสตราจารย์รุ่นใหม่ๆ ว่าจะร่วมกันสร้างหลักสูตรอะไรและนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาให้เด็กๆ ได้เรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพให้ก้าวไปได้ไกลกว่าของเดิมๆ มองไปยังอนาคต หรือจะจ้างศาสตราจารย์ระดับเทพจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ดีๆ จากประเทศไหนมาก็ได้ ถ้าเงินมี

ผมเชื่อว่าหัวของเด็กไทยเราก็ก้าวไปสู่ระดับโลกได้ครับถ้าได้รับการป้อนของที่ดีกว่าปัจจุบันให้กับพวกเค้า แล้วรู้อะไรไหมครับ เผลอๆ เด็กพวกนี้นั่นแหละที่จะกลายเป็นระดับหัวกะทิที่องค์กรของท่านอาจจะอยากจ้างพวกเค้าเข้ามาทำงานให้กับท่านก็ได้ในภายภาคหน้า

ผมคิดเสมอว่าประเทศไทยเราจะพัฒนากว่านี้ได้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบการศึกษาให้ยั่งยืน เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่คิดได้ดีได้เก่งกว่าพวกเราคือคนที่จะพาประเทศไปข้างหน้า แล้วเราจะมัววิจารณ์ภาครัฐกับนักการเมืองกันอยู่ทำไมครับ ตัวอย่างที่สหรัฐ มีให้เห็นมานานแล้ว แต่ถึงเวลาแล้วหรือยังที่อภิมหาเศรษฐีใจบุญของไทยจะเทกระเป๋ามาให้เรื่องการศึกษาให้เต็มที่มากกว่านี้

ผมเชื่อครับว่าเราทุกคนช่วยกันได้มากกว่านี้ เลิกเซ็งกับเรื่องนี้แล้วลงมือทำเลยครับ อย่าช้า

เศรษฐา ทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image