‘บอร์ด กพฐ.’ ไฟเขียวให้ ‘สพฐ.’ เดินหน้าพัฒนา 4 นโยบายการศึกษา พร้อมดันโรงเรียนเป็นนิติบุคคล

‘บอร์ด กพฐ.’ ไฟเขียวให้ ‘สพฐ.’ เดินหน้าพัฒนา 4 นโยบายการศึกษา พร้อมดันโรงเรียนเป็นนิติบุคคล

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ. ที่มีนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ เป็นประธาน ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำเรื่องโรงเรียนนิติบุคคล การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการปฏิรูปการศึกษา ที่เป็นนโยบายของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มาเสนอที่ประชุม กพฐ. เพื่อขอคำแนะนำ โดยเรื่องโรงเรียนนิติบุคคลนั้น กฎหมายเดิมที่มีอยู่ เช่น พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 20 ระบุว่าโรงเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่กฎหมายที่มีอยู่ยังมีข้อจำกัด ไม่สนับสนุนให้เป็นโรงเรียนเป็นนิติบุคคลเต็มรูปแบบ โดยที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาแนวทางการให้โรงเรียนมีอำนาจในการบริหารจัดการตนเองได้อย่างเข็มแข็ง สามารถทำงานได้ โดยเฉพาะ 4 เรื่อง คือ งบประมาณ วิชาการ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ซึ่งต้องมีวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจนจากคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลาการทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้โรงเรียนด้วย ตลอดจนประสานกับสำนักงบประมาณ ว่าจะจัดสรรงบประมาณเป็นเงินก้อนให่แก่สถานศึกษาได้หรือไม่ ซึ่งหากทำได้จะเป็นการนำเสนอของบฯปี 2564 โดย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. อยากทำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งตนคาดว่า 3 เดือนจากนี้น่าจะข้อสรุป

นายอำนาจ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ที่ผ่านมาตน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และ กพฐ. ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว ซึ่งนายณัฏฐพลก็เห็นด้วย โดยจะพัฒนาให้เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฐานสมรรถนะ โดยเน้นที่สมรรถนะของผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้พัฒนาตามศักยภาพของตนเอง และได้ตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์พัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งจะทำการพัฒนาเชิงการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งจะมีการทำควบคู่ไปกับการพัฒนาการประเมินผล สนับสนุนดิจิทัล สื่อ วัสดุอุปกรณ์การเรียน การสร้างความรับรู้กับชุมชน โดยนำร่องใช้หลักสูตรใหม่กับโรงเรียนที่ร่วมกิจกรรมในปีการศึกษา 2563 สำหรับปีการศึกษา 2564 จะเปิดให้โรงเรียนมีความพร้อมสมัครเข้ามาใช้หลักสูตรใหม่ คาดว่าในปีการศึกษา 2565 จะนำไปใช้กับทุกโรงเรียนได้ ไม่เฉพาะโรงเรียนในสังกัด สพฐ.เท่านั้น

“สำหรับนโยบายพัฒนาภาษาอังกฤษ ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.อยากให้มีโรงเรียนประจำอำเภอสอนสองภาษา จำนวน 2,000 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2563 นั้น ผมคิดว่าสามารถดำเนินการครอบคลุมไปถึงระดับตำบลได้ ซึ่งในปีการศึกษา 2563 สพฐ.ได้กระจายอำนาจเรื่องการรับนักเรียนไปให้คณะกรรมการรับนักเรียนระดับจังหวัดดูแล ถ้าโรงเรียนไหนมีความพร้อมก็สามารถขอเสนอเปิดห้องเรียนสองภาษามาได้ โดยเร็วๆนี้ สพฐ.จะแก้ไขหลักเกณฑ์การเปิดสอนห้องเรียนสองภาษาใหม่ ซึ่งครูต้องมีความพร้อม และ ผู้ปกครองมีความสนใจ รวมถึงจะให้ศูนย์เครือข่ายพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา (ERIC Network) ดำเนินการอบรมพัฒนาครูให้ด้วย” นายอำนาจกล่าว และว่า สำหรับเรื่องการปฏิรูปการศึกษา สพฐ. ได้เน้นย้ำเรื่องการปฏิรูปในห้องเรียน ให้ครูมีนวัตกรรมของตนเอง และอยู่ห้องเรียนกับเด็กไม่ต่ำกว่า 200 วันต่อปีการศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image