แห่ฉะอำนาจนิยมครอบงำการศึกษาไทย ‘พิภพ ธงไชย’ อัดระบบศึกษาหลัก ทำให้เด็กโง่

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ นักกิจกรรมเยาวชน และกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวตอนหนึ่งในเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง “รัฐธรรมนูญ กฎหมาย กับนโยบายการปฏิรูปการศึกษา” จัดโดยคณะกรรมการเครือข่ายภาคประชาชน และ 30 องค์กรประชาธิปไตย มีนางรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ นักการศึกษา เข้าร่วม ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีมิติด้านการเมืองอย่างเดียว ยังมีด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา อยากเห็นการศึกษาเป็นสิทธิที่พลเมืองไม่ต้องร้องขอ ทั้งนี้ มองการศึกษาว่าเป็นเสรีภาพที่ทุกคนควรได้เลือกเรียนในสิ่งที่พอใจ พอเพียงต่อการดำรงชีพ มากกว่าเรียนเพื่อแพ้ หรือชนะ โรงเรียนควรเป็นที่เรียนไม่ใช่โรงงาน ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่เป็นตัวเอง ผลิตคนดี

“การศึกษาไทยอยู่ในระบบอำนาจนิยม เรามักเห็นผู้ปฏิบัติการทางการศึกษา ใช้อำนาจต่อผู้เรียน ส่งต่อสู่สังคม องค์กร บริษัทต่างๆ ตัวอย่างของอำนาจนิยมยังส่งผลให้คนขาดมนุษยชน ขาดความเคารพ ความหลากหลาย ตอนนี้เราอยู่ในภาวะที่ทำเด็กให้เหมาะกับโรงเรียน ยังไม่เห็นโรงเรียนที่เหมาะกับเด็ก การศึกษาในระบบ ใช้อำนาจสร้างคนในระบบคนชั้นนำ มีค่านิยมชุดเดียวกัน ต้องเรียนให้เก่ง 4.0 จบแล้วได้ทำงานดีๆ เป็นเจ้าคนนายคน เป็นการศึกษาแบบที่ใครอ่อนแอก็แพ้ไป ใครไหวก็ไปต่อ” นายวรภัทร กล่าว

นายวรภัทรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คำสั่งควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยใช้วิธีว่าโรงเรียนใดที่มีเด็กต่ำกว่า 40 คน จะไม่ส่งครู หรือผู้บริหารเข้าไป แทนที่จะทำให้โรงเรียนเหล่านี้อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน เป็นการทำบอนไซโรงเรียนให้มีขนาดเล็กลง ยังมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ศูนย์กลางอย่าง สพฐ.และระดับอุดมศึกษา อยู่ภายใน้การดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีการเตรียมยุบสาขาที่ไม่เป็นความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะสายสังคม ถือเป็นการมองในระยะสั้น

นายพิภพ ธงไชย เลขานุการมูลนิธิเด็ก ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กล่าวว่า ตนคัดรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2540, 2550, 2560 และรัฐธรรมนูญฯ ฉยับยกร่างของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง ซึ่งเขียนเรื่องการศึกษาได้ดีที่สุด ทั้งนี้ ในช่วงยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ตนเคยเถียงกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในช่วงนั้น เกี่ยวกับการศึกษาทางเลือก ซึ่งไม่ใช่คำใหม่ โดยระบบการศึกษาไทยแบ่งเป็น การศึกษาหลัก และการศึกษาทางเลือก ระบบการศึกษาหลัก ในช่วงแรกรับมาจากอังกฤษ เกิดเป็นโรงเรียนชนชั้นนำ มหาวิทยาลัยชนชั้นนำ ควบคุมโดยราชการ ควบคุมเนื้อหาการเรียนทั้งหมด เพื่อควบคุมวิธีคิดของคนไทย ลงไปที่ระบบโรงเรียน สิ่งที่ใส่เข้าไปในหลักสูตร คือระบบอำนาจนิยม การศึกษาไม่ได้บริสุทธิ์ การศึกษาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้นที่ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมถึง อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ ดังนั้น เหตุการพฤษภาทมิฬ จึงไม่ถูกใส่ไปในหลักสูตร ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่บอกว่ามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ยังไม่สามารถนำเรื่องราวของคณะราษฎร์ ให้นักศึกษาเรียนได้ ดังนั้น ถ้าจะแก้ต้องเอาการศึกษาออกจากชนชั้นปกครอง

Advertisement

“เมื่อมองเห็นปัญหา ตอนที่ผมต่อสู้ในช่วงรัฐธรรมนูญฯ ปี2540 จึงต้องให้รระบุคำว่าการศึกษาทางเลือกเข้าไปให้ได้ เพื่อให้หลุดพ้นจากการศึกษากระแสหลัก เราไปเปลี่ยน ศธ.ไม่ได้ เพราะใน ศธ.มีระบบศักดินาขวางอยู่ แต่ครั้งนั้น เถียงไม่ชนะ จึงได้คำว่าการศึกษาตามอัธยาศัยก่อน จากนั้นมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงได้สู้ให้มีคำว่า การศึกษาทางเลือกเข้ามาได้ พอเอาเข้าไปได้ จึงมาทำกฎหมายประกอบ เกิดเป็นเรื่องโฮมสคูล การศึกษาไทย มีปัญหามากถึงขั้นที่นายอานันท์ ปันยารชุน ในช่วงเป็นนายกฯ อึดอัดกับระบบการศึกษาไทย พยายามจะแก้ก็แก้ไม่ได้ การต่อสู้มีทิศทางมาเช่นนี้ เมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 เริ่มแรกให้นายบวรศักดิ์ยกร่าง ซึ่งเขียนได้ดี และมีจุดเปลี่ยน คือกระจายงบไปที่ตัวเด็กในรูปแบบคูปองการศึกษา ทำให้เด็กมีอิสระเลือกที่เรียนได้ เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งน่ายินดีที่ อว.ให้เด็กเรียนข้ามสาขา ข้ามมหาวิทยาลัยได้ เพราะหากไม่เปลี่ยน คนจะเริ่มทิ้งมหาวิทยาลัย ใน 10 ปี มหาวิทยาลัยจะร้าง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ไม่ได้ถูกนำมาใช้ มาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานยกร่างฯ ข้อดีคือกำหนดให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ขึ้น ซึ่งเดิมเชิญนายอานันทท์มาเป็นประธาน แต่นายกฯ ไม่เลือก ถือเป็นความผิดพลาดของนายกฯ สุดท้ายได้คนไม่มีชื่อด้านการปฏิรูปการศึกษา มาเป็นประธาน” นายพิภพ กล่าว

นายพิภพกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เชื่อว่าสามารถจัดการศึกษาให้เด็กฉลาดได้ ถ้าเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาใหม่ ไม่ใช่ให้เข้าระบบการศึกษาหลัก เพราะจะทำให้คนโง่ ส่วนคนเก่งที่เกิดขึ้นอย่างนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และอีกหลายๆ คน ถือเป็นกรณีพิเศษ การศึกษาต้องเชื่อมโยงกับการอ่าน ลดอำนาจ ศธ.ลง แต่ถ้าลดไม่ได้ ต้องสร้างการศึกษาทางเลือก การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ระบบการศึกษาปัจจุบันทำลายคนไทย

น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในฐานะครูและนักกิจกรรม กล่าวว่า ในฐานะผู้ปกครอง และคนที่รณรงค์เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ มองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ในส่วนการศึกษา ไม่ได้เขียนไว้แย่ขนาดนั้น ส่วนตัวมองว่ารัฐควรโฟกัสใน 3 ส่วน คือ การเข้าถึงทางการศึกษา ซึ่งหากโรงเรียนใกล้บ้านไม่มีคุณภาพ ผู้ปกครองก็พาไปเรียนโรงเรียนไกลๆ เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เกิดโรงเรียนอินเตอร์ หรือโรงเรียนนานาชาติ ที่ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้กว้างขึ้นอีก ส่วนที่สองคือเนื้อหา ที่ต้องตั้งโจทย์ให้ชัด และเฉพาะเจาะจง ปัจจุบันเนื้อหาการศึกษาไทยยังมีความเชยๆ ครูยังมีความเชยๆ ไม่มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับปัจจุบัน ขอเสนอให้ตั้งโจทย์ โดยสร้างพลเมืองโลก คือต้องพูดได้มากกว่า 2 ภาษา เพื่อให้ทำงานในประเทศอื่นๆ ได้ทั่วโลก มีทักษะการปรับตัว มีความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ฯลฯ และส่วนที่ 3 คุณภาพ สิ่งที่ต้องโฟกัสมากที่สุด คือคุณภาพครู ที่ขณะนี้เข้าขั้นวิกฤต ภาระงานมาก มีหนี้เยอะ ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ดังนั้น ต้องเข้มงวดในการอบรมครูให้มากขึ้น

“ส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เขียนไว้แย่ขนาดนั้น แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือ การศึกษาภาคบังคับจาก 12 ปี เป็น 15 ปี ขณะที่เรียนฟรี 12 ปี ยังไม่ฟรีจริง ยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษ ดังนั้น ควรปรับควรทำเป็นระบบสวัสดิการ โดยดิฉันสนับสนุนให้มีคูปองการศึกษา ให้เด็กได้เลือกเรียน ทำให้การศึกษาเป็นเหมือน 30 บาทรักษาทุกโรค และไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีเงิน เพราะถ้ากำหนดไว้ในกฎหมาย จะไปบีบให้ต้องลดงบส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นลง เช่น งบทางการทหาร งบโปรปะกันด้า หรือโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ที่แฝงอยู่จำนวนมาก แต่ทั้งหมดนี้ ทางแก้ที่ตรงที่สุดคือ ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาจริงๆ ของบ้านเรา ไม่ใช่ 1-2 ปี ก็มีรัฐประหาร ข้าราชการก็เกียร์ว่าง การแก้ปัญหาต้องไปแก้ที่หมวดการเลือกตั้ง การเลือก ส.ว.เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง เข้ามาแก้ปัญหาการศึกษา ดังนั้น การศึกษาแย่แน่ ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ” น.ส.ณัฏฐา กล่าว

นางทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายศึกษา กล่าวว่า การศึกษาของรัฐ คือเครื่องมือการกล่อมเกลาคนในสังคม ฉะนั้น เป็นระบบที่ควบคุมกำกับตั้งแต่เด็กไปถึงผู้ใหญ่ได้ เพราะมีอำนาจ และงบรองรับ ขึ้นอยู่กับระบบของแต่ละประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับการเมือง และเศรษฐกิจที่วางไว้ แต่สำหรับไทย ยังมองไม่ออก เพราะยังไม่มีการออกแบบทั้งระบบ ถ้ามองในระยะใกล้ เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งวางไว้ดีแล้ว แต่สิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตคือ เมื่อรัฐธรรมนูญดีแล้ว ทำไมปัญหาสังคมยังมี จึงต้องกลับมาที่เรื่องการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ย้อนกลับไปถึงต้นน้ำตั้งแต่ประถม มัธยม และอุดมศึกษา ที่ต้องปลดล็อก การศึกษาต้องไม่ครอบงำ และชี้นำเด็ก อุดมศึกษาต้องไม่ครอบงำ และผลิตครูที่มีคุณภาพออกมาสอนเด็ก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายได้เปิดให้ผู้ร่วมรับฟังได้แสดงความคิดเห็น โดยนางรสนา ได้แสดงความคิดเห็นว่า การศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสังคม และพลเมืองที่เข้มแข็ง แต่ต้องยอมรับว่าการศึกษาอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐ แต่ปัจจุบันตื่นตัวมากขึ้น เริ่มจากกลุ่มต่างๆ ที่พยายามจัดการศึกษาด้วยตัวเอง ขณะที่ ศธ.เปิดมากขึ้น เพื่อให้การศึกษาสร้างความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ใช่แค่มีงานทำอย่างเดียว ที่สำคัญไม่ควรใช้การศึกษาเพื่อครอบงำคน แต่ทำอย่างไร ที่จะเปิดพื้นที่ให้เด็กเลือกเรียนได้อย่างพอใจ คิดว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หลายแห่ง หากเห็นคุณค่าสิ่งนี้ สามารถทำได้เลย โดยที่ไม่ต้องรอความเปลี่ยนแปลงของ ศธ.การศึกษาเป็นตัวสะท้อนว่าคุณอยากได้คนแบบไหนในสังคมนี้ การศึกษา เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มจากคนกลุ่มเล็ก เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image