ชี้หลักสูตรขั้นพื้นฐานใหม่เสร็จ ธ.ค.เน้นให้เด็กมีสมรรถนะใน 7 ช่วงวัย

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการการวิเคราะห์พัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นมาใช้แทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550 โดยที่ประชุมเห็นว่าโครงสร้างหลักสูตรต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว และควรเชิญคณบดีคณะครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักในการผลิตครู เข้ามาให้ความคิดเห็นถึงหลักสูตรใหม่ที่จัดทำขึ้นมา ว่าสามารถปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้นักศึกษาที่เรียนครูสามารถใช้หลักสูตรใหม่ได้หรือไม่ เพื่อให้บัณฑิตครูที่จบไปสามารถสอนนักเรียนได้ทัน การจัดทำหลักสูตรใหม่ครั้งนี้ นอกจากเน้นสมรรถนะของนักเรียนแล้ว ต้องศึกษาถึงเป้าหมาย และยุทธศาสตร์ชาติมาดูด้วย เพื่อวางโครงสร้างหลักสูตร ว่าสูตรใหม่นี้จะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน

นายเอกชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าปัญหาของการสร้างหลักสูตรใหม่ ไม่ใช่ระยะเวลาในการจัดทำ เพราะใช้ระยะเวลาไม่นาน แต่ปัญหาคือการสร้างความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครู เนื่องจากพฤติกรรมการสอนของครูจะคุ้นเคยกับการสอนรูปแบบเก่าๆ หากหลักสูตรใหม่ที่เน้นสร้างสมรรถนะเด็กมากขึ้น การสอน และกิจกรรมที่จัดให้เด็ก จะเปลี่ยนตามไปด้วย นอกจากนี้ ตัวชี้วัดจะต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะหลักสูตรเดิมมีตัวชี้วัดจำนวนมาก ทำให้ครูกังวลกับตัวชี้วัดว่าจะสอนได้ตามที่กำหนดหรือไม่ และเมื่อศึกษานิเทศก์ไปนิเทศงาน จะดูตามตัวชี้วัดว่าครูสอนตามที่กำหนดหรือไม่ กลายเป็นว่าทุกคนไม่เน้นที่สมรรถนะ หรือความรู้ที่นักเรียนได้รับเลย

“การใช้หลักสูตรใหม่ จะต้องปรับหลายอย่าง และมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่ประชุมจึงเชิญคณบดีครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นแกนหลักในการสร้าง และอบรมครู เข้ามาให้ความเห็นด้วย โดยหลักสูตรใหม่จะเน้นการเรียนการสอนสร้างเด็กให้มีสมรรถนะใน 7 ช่วงวัย ที่กำหนดในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ว่าในหลักสูตรระดับประถมศึกษา มัธยมต้น มัธยมปลาย ควรจะเน้นการสร้างสมรรถนะด้านใดบ้าง คาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้ โครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจะแล้วเสร็จ และเสนอนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาเห็นชอบ เมื่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เห็นชอบ ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะยกร่างพัฒนาหลักสูตรใหม่ต่อทันที เพื่อให้ทันใช้ในสถานศึกษานำร่อง ในปีการศึกษา 2563 และภายในปีการศึกษา 2565 คาดว่าทุกโรงเรียนจะใช้หลักสูตรใหม่แทนหลักสูตรเดิม” นายเอกชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image