‘ครูตั้น’ ชี้อย่ามโนโครงสร้าง ศธ.หลัง ชร.ผอ.สพท.อ้างครู 90% หนุนเพิ่ม 77 สพม.-ให้อำนาจบริหารพื้นที่ ‘สพป.-สพม.’

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ชร.ผอ.สพท.ได้ส่งแบบสอบถามเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ทั้งผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูทั่วประเทศ เพื่อเป็นข้อเสนอในการยกร่างโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของ สพฐ.เพื่อให้ทราบแนวทาง และพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผ่านระบบออนไลน์ โดยให้กรอกแบบสอบถามระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายนนั้น มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 142,414 คน เบื้องต้นกว่า 90% เห็นด้วยให้โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกอบด้วย สำนักงานปลัด ศธ., สพฐ., สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ขณะที่โครงสร้าง สพฐ.มีการบริหารส่วนกลางอยู่ที่ สพฐ.ส่วนการบริหารเขตพื้นที่ฯ อยู่ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) มีกลุ่มโรงเรียน และโรงเรียน รวมถึง ให้มี สพม. 77 เขต ครบทุกจังหวัด

นายธนชนกล่าวต่อว่า จากการสอบถามความคิดเห็นยังมีข้อเสนอแนะ อาทิ ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2560 เรื่องการบริหารงานบุคคลและบุคลากรทางการศึกษา คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.เนื่องจากโครงสร้างทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงานด้านบุคคล ความล่าช้าในการบริหารงานบุคคลก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่นักเรียน ครู ผู้บริหาร และโรงเรียน การใช้งบประมาณในตั้งอัตรากำลัง และตำแหน่งที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดประโยชน์ทางการศึกษาเต็มตามศักยภาพที่ควร เสนอให้ตั้งทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ให้คงแท่ง สพฐ.และปฏิเสธการขับเคลื่อนนโยบายแบบเบ็ดเสร็จ (single command) ควบยุบ ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ซึ่งปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกับเขตพื้นที่ฯ ทำให้งานล่าช้า ควรนำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขทุกฉบับ มาปรับปรุงเพื่อนำมาใช้ต่อไป ควรให้มีสมัชชาการศึกษาจังหวัดขับเคลื่อนคุณภาพตามบริบทพื้นที่จังหวัด และควรยุบ ศธจ.หรือเปลี่ยนบทบาทหน้าที่เป็นสำนักยุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัด ควรกระจายอำนาจ และสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลอย่างแท้จริง และไม่ควรยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้เรียน ควรพิจารณาคุณภาพ และความยากลำบากในการเดินทางด้วย เป็นต้น

“สพท.นำข้อสรุปที่ได้ไปจัดทำโมเดลโครงสร้าง สพฐ.ที่เหมาะสม คาดว่าใช้เวลาไม่นาน จากนั้นจะเสนอให้นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณา ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ที่มีนายวราวิทย์ กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน ในการประชุมวันที่ 13 ธันวาคม” นายธนชน กล่าว

ด้านนายณัฏฐพล กล่าวว่า การปรับโครงสร้างของ ศธ.ยังไม่มีข้อยุติ อย่าเพิ่งประท้วงในสิ่งที่ยังไม่มีข้อสรุปออกมา การประท้วงในประเด็นต่างๆ และหลายๆ เรื่องนั้น ต้องใช้วิจารณญาณให้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นหรือยัง ศธ.ได้ดำเนินการอะไรหรือไม่ บางเรื่องยังไม่มีหน่วยงานไหนทำ หรือพูดถึง แต่กลับคิดไปเองว่ารูปร่างโครงสร้าง ศธ.จะออกมาเป็นรูปแบบใด ขอให้รอข้อมูลที่ชัดเจนก่อน หากคิดว่าไม่เหมาะสม และไม่เห็นด้วย แล้วมาร้องเรียน ตนก็ยินดี

Advertisement

“ขณะนี้ยังไม่ตั้งไข่การปรับโครงสร้าง ศธ.ใดๆ ทั้งสิ้น ข่าวที่ออกมาว่าจะยุบ สพฐ.ก็ไม่มีความเป็นไปได้ ไม่ต้องบอกว่าเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้น แต่อะไรที่ซับซ้อน ทั้งในเรื่องการทำงาน ค่าใช้จ่าย อำนาจการจัดการ ศธ.จะทำเรื่องนี้ให้เป็นเอกภาพแน่นอน ส่วนเรื่องการตั้ง สพม.เพิ่มขึ้นมานั้น ยังไม่มีข้อสรุป เพราะขณะนี้คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.อยู่ระหว่างการทำงาน ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมา” นายณัฏฐพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image