โป๊ป ทรงพบ ‘5 ผู้นำศาสนา-ประชาคมจุฬาฯ’ รำลึก 122 ปี ร.5 เสด็จเยือนกรุงโรม (คลิป)

เมื่อเวลา 15.25 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรานซิส เสด็จจากสถานสมณทูตวาติกัน ถึงจุฬาฯ เพื่อทรงพบปะกับผู้นำศาสนา 5 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ผู้แทนมหาเถรสมาคม (มส.) ได้แก่ สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และ พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ศาสนาอิสลาม ได้แก่ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ศาสนาพราหมณ์ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ ศาสนาซิกซ์ ได้แก่ นายปานชัย สิงห์สัจเทพ นายกสมาคมศรีคุรุสิงห์ ผู้แทนศาสนาคริสต์ นิกายต่างๆ รวมถึงประชาคมจุฬาฯ โดยมีพระคาร์ดินัลฟรังซิส เซเวียร์เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช อาร์ชบิชอปแห่งเขตศาสนปกครองกรุงเทพฯ, ศ.กิตติคุณนพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาฯ, ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ และบิชอบ ยอแซฟซูศักดิ์ สิริสุทธิ์ ประมุขแห่งเขตศาสนปกครองนครราชสีมาและประธานกรรมาธิการฝ่ายเสวนาระหว่างศาสนาและคริสตศาสนสัมพันธ์ของสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยร่วมรับเสด็จ

ทั้งนี้ตลอดสองข้างทางเสด็จ มีนิสิต และประชาคมจุฬาฯ และประชาชนรอเฝ้ารับเสด็จ เมื่อรถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนผ่าน ทุกคนต่างส่งเสียงร้อง Viva IL Papa จากนั้นสมเด็จพระสันตะปาปา ทรงลดกระจกรถยนต์พระที่นั่งลง ทรงโบกพระหัตถ์ แย้มพระสรวล ทักทายผู้มาเฝ้ารับเสด็จอย่างเป็นกันเอง

Advertisement

จากนั้นเสด็จขึ้นเวทีหอประชุมจุฬาฯ โดย ศ.ดร.บัณฑิต กราบทูลรายงานและถวายหนังสือ ภาษาอังกฤษ ชุดทรงคุณค่าของจุฬา ได้แก่ หนังสือ 100 ปีจุฬาฯ ร.9 กับจุฬา ประวัติความสัมพันไทยกับวาติกัน ที่เกี่ยวข้องในสมัย ร.5 แด่สมเด็จพระสันตะปาปา

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี ถวายสูจิบัตร บิชอป ยอแซฟชูศักดิ์ สิสุทธิ์ กราบทูลต้อนรับ จากนั้นคณะนักร้องประสานเสียงจากหลากหลายกลุ่มศาสนา ประกอบด้วย คณะนักร้องประสานเสียงจุฬาฯ คณะนักร้องประสานเสียงมูโค่พอ จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่และคณะนักร้องประสานเสียง AL-Aman จากโรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ ขับร้องเพลง”Peace Prayer” ภายใต้การอำนวยเพลงโดย ดร.ภาวศุทธิ์ พิริยะพงษ์รัตน์

Advertisement

สมเด็พระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงมีดำรัส ต่อผู้นำศาสนาและประชาคมจุฬาฯ ตอนหนึ่งว่า เมื่อ 122 ปีที่แล้ว ในปี ค.ศ.1897 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงโรม และพระองค์ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีประมุขของรัฐที่ไม่ใช่คริสตศาสนิกชนเยือนนครรัฐวาติกัน การระลึกถึงวาระที่สำคัญดังกล่าวรวมถึงทั้งรัชสมัยของร.5 ที่ทรงมีคุณูปการอย่างเหลือล้นรวมถึงการเลิกทาสทำให้เราได้ย้อนคิด และกระตุ้นให้เรามุ่งมั่นดำเนินการตามแนวทางของการสานเสวนาและการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และสิ่งนี้ควรดำเนินการต่อไปอย่างจริงจังด้วยสำนึกแห่งภราดรภาพอันจะช่วยยุติภาวะการเป็นทาสที่ยังคงมีอยู่มากมายหลายรูปแบบในยุคปัจจุบัน เช่นที่พบอยู่ในกรณีปัญหาการค้ามนุษย์

สมเด็จพระสันตะปาปา ทรงมีพระดำรัสต่อว่า ความจำเป็นในการยอมรับและเห็นคุณค่าของกันและกัน รวมถึงความร่วมมือระหว่างศาสนาต่างๆ เป็นสิ่งที่ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นต่อมนุษยชาติในปัจจุบัน โลกทุกวันนี้เผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนเช่นโลกาภิวัตน์   ทางเศรษฐกิจการเงิน และผลกระทบที่รุนแรงต่อการพัฒนาของสังคมท้องถิ่น ความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วซึ่งดูเหมือนจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นนั้นมา พร้อมกับความขัดแย้งทางสังคมที่แก้ปัญหาไม่ตก  รวมทั้งปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐาน  ผู้ลี้ภัย ความหิวโหย สงคราม รวมถึงภาวะเสื่อมโทรม ที่กำลังทำลายโลกที่เป็นบ้านส่วนรวมของพวกเราทุกคน  ภาวะการณ์เหล่านี้กระตุ้นเตือนเราว่าไม่มีภูมิภาคหรือภาคส่วนใดของมนุษยชาติที่จะคิดหรือดำเนินไปได้โดยไม่ข้องเกี่ยว  หรือไม่ได้รับผลกระทบจากภูมิภาคหรือภาคส่วนอื่น  ในขณะเดียวกันภาวะการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องลองค้นหาวิธีการใหม่ ๆ ในการสร้างประวัติศาสตร์ปัจจุบันโดยไม่จำเป็นต้องตำหนิหรือกล่าวโทษใคร

วิธีคิดแบบแยกส่วนเป็นเอกเทศที่ไม่ใช่องค์รวมในการมองภาพเวลา  พื้นที่ หรือมิติอื่นซึ่งเคยนำมาใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งได้นั้นล้าสมัยไปแล้ว  ยุคนี้เป็นยุคที่ต้องกล้าจินตนาการถึงวิธีคิดใหม่ที่ต้องการหันหน้าเข้าหากัน และการสานเสวนาหารือกันควรเป็นแนวทางที่ควรเดิน การทำงานร่วมกันควรเป็นแนวทางปฏิบัติ และการทำความรู้จักซึ่งกันและกันเป็นวิธีการและหลักเกณฑ์ โดยเสนอกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง สร้างความเข้าใจกันระหว่างผู้คนและปกปักษ์รักษาสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าในด้านนี้ สถาบันศาสนารวมถึงสถาบันการศึกษาทุกระดับ มหาวิทยาลัยสามารถมีส่วนร่วมและช่วยได้โดยไม่ต้องละทิ้งพันธกิจหลัก และความเชี่ยวชาญเฉพาะตนไป ทุกสิ่งที่เราทำเพื่อการดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการรับประกันสิทธิในอนาคตของอนุชนรุ่นหลัง ทั้งยังเป็นการธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและสันติภาพ นี่เป็นวิธีเดียวที่เราจะเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อให้พวกเขาเป็นผู้สร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สมเด็จพระสันตะปาปา ทรงมีพระดำรัส ด้วยว่า ยุคสมัยนี้ เราต้องสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งที่ยึดหลักการให้เกียรติและการเคารพศักดิ์ศรีของบุคคลในการส่งเสริมมนุษยนิยมแบบบูรณาการ (humanismo integral) ที่เห็นความสำคัญและสามารถเรียกร้องให้ปกป้องแผ่นดินโลกซึ่งเป็นบ้านส่วนรวมของพวกเราทุกคนในการบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบโดยรักษาความงดงามและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในฐานะที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ศาสนาสำคัญๆ ของโลกของเราเป็นหลักฐานแสดงถึงมรดกทางจิตวิญญาณอันสูงส่งกว่าสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา ที่มีร่วมกันในหลายลัทธิความเชื่อ ซึ่งสามารถเป็นหลักที่มั่นคงในเรื่องนี้ได้ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้หากเรากล้าทดลองโดยปราศจากความกลัวที่จะมาพบปะกัน พวกเราทุกคนได้รับกระแสเรียก ไม่ใช่เพียงให้สนใจเสียงร้องของคนยากจนที่อยู่รอบตัวเรา เช่น คนที่อยู่ชายขอบสังคม  คนที่ถูกกดขี่ข่มเหง กลุ่มชนชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยทางศาสนา แต่ยังมีเสียงเรียกโดยไม่ต้องกลัวที่จะสร้างพื้นที่สำหรับการพบปะกันและทำงานร่วมกัน ซึ่งก็มีการริเริ่มดำเนินการกันมาบ้างแล้ว ในขณะเดียวกัน ยังมีการขอให้เรายอมรับความจำเป็นในการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเคารพสิทธิด้านมโนสำนึกและเสรีภาพทางศาสนาและสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ด้วยความมั่นใจว่า “ไม่ใช่ทุกอย่างจะเสียหายไปทั้งหมด เพราะมนุษย์ซึ่งอาจตกต่ำได้ถึงขีดสุด ก็สามารถพัฒนาตนเอง กลับสู่หนทางที่ถูกต้องและเจริญขึ้นมาใหม่อีกครั้ง  และต้องเอาชนะอุปสรรคทางจิตใจและสังคมทั้งปวงที่อยู่รอบด้านได้ในผืนแผ่นดินไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความงดงามทางธรรมชาติ ข้าพเจ้าอยากจะเน้นลักษณะเด่น ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าสำคัญยิ่ง และเป็นหนึ่งในความอุดมสมบูรณ์ที่มีศักยภาพในการ “ส่งออก” และแบ่งปันให้ภูมิภาคอื่นๆซึ่งเป็นครอบครัวมนุษยชาติของเราได้

พวกท่านชาวไทยให้ความสำคัญและดูแลผู้สูงอายุ ให้เกียรติและเคารพยกย่องผู้สูงวัย  ซึ่งทำให้ท่านเป็นรากแก้วเพื่อให้ชนชาติของท่านไม่เหี่ยวเฉาไปกับสโลแกนบางคำที่จะทำให้จิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ว่างเปล่าหรือเสื่อมถอยลง นอกจากแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในการลดทอนคุณค่าแห่งค่านิยมและวัฒนธรรมท้องถิ่นอันงดงาม โดยการยัดเยียดรูปแบบที่เหมือนกันเพียงแบบเดียว เรายังเห็นแนวโน้มที่จะทำให้คนหนุ่มสาว มีลักษณะคล้ายกันเพื่อสลายความแตกต่างที่แปรไปตามถิ่นกำเนิดของแต่ละคน ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านั้นเป็นสิ่งมีชีวิตตามสั่ง ซึ่งผลิตออกมาเหมือนๆ กันในปริมาณมาก ซึ่งเป็นการทำลายทางวัฒนธรรมที่ร้ายแรงพอๆ กับการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ขอให้ท่านทำให้คนหนุ่มสาวได้ค้นพบวัฒนธรรมของสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ การช่วยให้คนหนุ่มสาวค้นพบคุณค่าอันไม่มีวันเสื่อมสลายของอดีต ได้ค้นพบรากเหง้าของตัวเองโดยการสำนึกอย่างกตัญญู อันเป็นการแสดงออกอย่างแท้จริงถึงความรักที่มีต่อเขาในระหว่างที่เฝ้าดูการเติบโตและการตัดสินใจของเขาเหล่านั้น

“มุมมองทั้งหมดนี้จำเป็นที่จะต้องมีบทบาทของสถาบันการศึกษาเช่นมหาวิทยาลัยแห่งนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง การศึกษาวิจัย การมีองค์ความรู้จะช่วยเปิดหนทางใหม่ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคน เสริมสร้างความยุติธรรมในสังคม ปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แสวงหาวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติสุข และ การอนุรักษ์ทรัพยากรที่ให้ชีวิตแก่แผ่นดินของเรา ข้าพเจ้าขอขอบคุณครูอาจารย์และนักวิชาการของประเทศนี้เป็นพิเศษที่ทำงานเพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันและอนาคตมีทักษะ และเหนือสิ่งอื่นใดคือมีภูมิปัญญาที่มีรากฐานมาแต่โบราณกาลซึ่งจะช่วยให้เขาสามารถมีส่วนในการเสริมสร้างประโยชน์ส่วนรวมแก่สังคม”สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีดำรัส

จากนั้นคณะนักร้องประสานเสียง ขับร้องเพลง “Songs of Freedom” จบแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซีสส ทรงมีพระปฏิสันถารกับผู้นำทั้ง 5 ศาสนา จากนั้นถ่ายภาพหมู่ร่วมกับผู้นำศาสนาต่างๆ และผู้ทรงเกียรติทั้ง 18 คนบนเวที ก่อนเสด็จออกจากหอประชุมจุฬาฯ เวลา 16.08 น. เพื่อเสด็จไปยัง อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก เพื่อทำพิธีบูชาขอบพระคุณสำหรับเยาวชน

เซอร์มารีอักแนส บัวทรัพย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์โยเซฟแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า นำนักเรียนจำนวน 39 คน จากวงมูโค่พอมาร่วมร้องเพลงประสานเสียง ซึ่งทันทีที่ทราบว่าสมเด็จพระสันตะปาปา จะเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ก็รู้สึกปลื้มปีติ โดยเฉพาะนักเรียน ซึ่งเป็นเด็กชาติพันธ์ุ จาก 3 เผ่า คือ ปกากะญอ ม้ง และละว้า รู้สึกดีใจมาก อยากเดินทางมาร่วมรับเสด็จแม้ทางโรงเรียนจะไม่มีงบค่าเดินทางให้ นักเรียนก็ขอทำงานโดยไปรับจ้างหักข้าวโพด เพื่อเป็นค่าเดินทาง แต่เมื่อผู้ใหญ่รับทราบความตั้งใจของเด็กๆ ก็แสดงความประสงค์ ช่วยเหลือเรื่องค่าเดินทางให้ ส่วนตัวเซอร์มารีเอง เคยเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส มาแล้ว 3 ครั้ง เพราะมีโอกาสได้ไปอบรมแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ทำให้มีโอกาสเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้าจะรู้สึกปลื้มปีติ ตื้นตันใจ ทำให้เรามีพลังในการทำงานอย่างเต็มที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image