ม.แม่โจ้-แพร่ รุกใช้ ‘ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ’ ลดหมอกควัน-สร้างอาชีพให้ชุมชน

ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทางภาคเหนือ ด้วยเหตุนี้ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จึงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา

โดย ผศ.ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธรรมศักดิ์ พันธุ์แสนศรี อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ เล่าว่า ได้ทำโครงการเสนองบประมาณบูรณาการระดับภาค สำนักงบประมาณ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ได้งบมาจำนวน 20 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี โดยเป็นโครงการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรโดยการทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดปัญหาหมอกควันครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน พะเยา และเชียงราย

Advertisement

ภายใต้โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย 1.กระถางชีวภาพซึ่งทำมาจากวัสดุทางการเกษตรที่อัดในรูปแบบกระถางสำหรับเพาะกล้าไม้ เมื่อกล้าไม้โต ก็สามารถนำทั้งกระถางปลูกลงดินซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในดินภายใน 6 เดือน ทดแทนกระถางพลาสติกและถุงพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย

Advertisement

2.การผลิตถ่านไบโอชาร์ ซึ่งช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างของดินและดูดซับความชื้น เพราะเราคงห้ามชาวบ้านไม่ให้เผาไม่ได้ ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้เผาอย่างถูกหลักวิชาการและเกิดประโยชน์ ซึ่งถ่านไบโอชาร์สามารถคลุกกับดินแล้วปลูกพืชได้เลย หรือไม่ก็ทำเป็นวัสดุรองพื้นเลี้ยงไก่เพราะช่วยดูดซับความชื้นได้ดี

และ 3.การผลิตภาชนะใส่อาหารจากวัสดุธรรมชาติ เพราะมองว่าการเผาโดยเฉพาะในป่า มีเชื้อเพลิงที่มีปริมาณมาก เกิดมลพิษทางอากาศ ฉะนั้น จะทำอย่างไรที่จะนำแหล่งเชื้อเพลิงออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งมองว่าการทำภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกาบไผ่ ใบไม้ เป็นต้น ก็ช่วยลดเชื้อเพลิงได้

ผศ.ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธรรมศักดิ์ เล่าต่อว่า ประกอบกับขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ รณรงค์ใช้วัสดุจากธรรมชาติ งดใช้โฟม จึงเป็นที่มาที่ทำให้หาเครื่องจักรมาสนับสนุนโครงการผลิตภาชนะใส่อาหารจากวัสดุธรรมชาติ จึงได้สั่งซื้อเครื่องปั๊มจานจากใบไม้และวัสดุธรรมชาติ จากนายกษมา ถาวร กรรมการผู้จัดการบริษัทกษมา เฮลิคอปเตอร์ จำกัด จำนวน 3 เครื่อง เครื่องละ 40,000 บาท โดยเครื่องแรก อยู่ที่เทศบาลตำบลบ้านเวียง จ.แพร่ เพื่อให้ชุมชนผลิตจานจากวัสดุธรรมชาติ เราเป็นวิทยากรถ่ายทอดวิธีการใช้งาน ตอนนี้ชุมชนผลิตจานจากวัสดุธรรมชาติใช้ตามงานต่างๆ เช่น ตลาดนัด งานลอยกระทง ขึ้นปีใหม่ เป็นต้น

ส่วนเครื่องที่ 2 อยู่ที่โรงเรียนผู้สูงอายุ เทศบาลตำบลบางพูน อ.วังชิ้น จ.แพร่ ซึ่งได้ประสานขอนำไปใช้เพื่อสร้างอาชีพให้กับผู้สูงอายุ มีการผลิตจานจากกาบไผ่และใบตองตึง อนาคตสามารถใช้เครื่องจักรจนชำนาญ ก็จะมีการระดมเงินซื้อเครื่องจักรไว้ประจำโรงเรียนต่อไป สำหรับเครื่องที่ 3 อยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ โดยจะส่งเสริมให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หารายได้ระหว่างเรียนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ผ่านโครงการ “จ จานรักษ์โลก” จ่ายค่าแรงให้วันละ 200 บาท โดยเปิดรับนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการซึ่งจะเริ่มในวันที่ 24-25 พฤศจิกายนนี้

“ขณะนี้หอการค้าจังหวัดแพร่ ประสานงานเข้ามาว่าถ้ามีกำลังการผลิต ก็จะหาออเดอร์ให้ ซึ่งตอนนี้เรามีกำลังผลิตจานจากวัสดุธรรมชาติได้วันละ 300 ใบ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ ก็ประสานเข้ามาว่าจะสั่งให้มหาวิทยาลัยผลิตเช่นกัน” ผศ.ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าว

โครงการภาชนะใส่อาหารจากวัสดุธรรมชาติ นอกจากจะช่วยลดหมอกควันและสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะช่วยสร้างอาชีพ สร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชน เกษตรกรและเยาวชนด้วย อย่างไรก็ตาม เครื่องจักรรุ่นแรก จะต้องโยกแม่แรง และเมื่ออัดขึ้นรูป จะต้องตัดขอบเศษวัสดุธรรมชาติเอง ทางผู้สูงอายุจึงเสนอแนะให้มีการผลิตเครื่องจักรระบบออเตอร์และตัดขอบได้อัตโนมัติ เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน และผู้สูงอายุสามารถนำไปสร้างอาชีพได้ ขณะนี้ทางบริษัทคุณกษมา จึงได้ผลิตเครื่องจักรต้นแบบระบบออโต้ อยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ ถ้าแล้วเสร็จก็จะสั่งซื้อต่อไป” ผศ.ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าว

ด้านนายอรรถชัย ดูสันเทียะ นักศึกษาชั้นปี 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ระบุว่า หลังจากได้เข้าร่วมโครงการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรฯ ทำให้ได้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการบริหารและจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรว่าจะจัดการกับวัสดุเหล่านี้อย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้เกิดมลภาวะทางอากาศ เช่น นำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ นำไปทำอาหารหมักให้สัตว์เลี้ยงเพื่อลดต้นทุนลงอีกระดับหนึ่ง นำไปขึ้นรูปเป็นภาชนะสำหรับเพราะปลูกต้นกล้าไม้ต่างๆ นำไปทำภาชนะสำหรับใส่อาหารว่างหรือเบรกเพื่อทดแทนการใช้โฟม

โดยความรู้ที่ได้สามารถนำไปบอกต่อให้กับพ่อแม่ พี่น้อง ญาติๆ หรือคนในหมู่บ้านและชุมชนเพื่อเป็นการกระจายความรู้อีกทางหนึ่ง ซึ่งในชุมชนของตนทำการเกษตรเกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดเป็นจำนวนมาก มีการเลี้ยงโคเนื้อ ตนและพ่อจะนำรถบรรทุกไปช่วยญาติพี่น้องบรรทุกข้าวโพดที่เก็บแล้วมาสี แล้วจะขอเปลือกข้าวโพดมาให้โคกินในช่วงหน้าแล้ง เราจะไม่เผาให้เปล่าประโยชน์ ถ้าจะเผา ก็ต้องเผาให้มีประโยชน์ เช่น การผลิตถ่านไบโอชาร์

“สำหรับการทำภาชนะใส่อาหารจากวัสดุธรรมชาติ ส่วนตัวมองว่าวิธีการทำง่ายมาก ไม่ซับซ้อน สามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ สามารถทำได้ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ผู้สูงอายุ เพราะงานไม่หนักมาก ซึ่งสามารถทำเป็นอาชีพได้สบาย ส่วนผู้บริโภค ก็เริ่มที่จะคิดรักสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็จะสนใจเป็นอย่างมากเพราะว่าวัสดุที่ใช้ ก็เอามาจากวัสดุธรรมชาติ ไม่มีสารพิษตกค้างใดๆ” นายอรรถชัยกล่าว

ด้านนางกรรณิกา ศรีโพธิ์ หัวหน้าฝ่ายงานสาธารณสุข เทศบาลตำบลบ้านเวียง จังหวัดแพร่ กล่าวว่า หลังจากได้ขอความอนุเคราะห์เครื่องอัดขึ้นภาชนะใส่อาหารจากวัสดุธรรมชาติจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติแล้ว ทางเทศบาลได้ผลิตจานจากกาบไผ่ กาบหมาก และใบตองตึง เพื่อนำมาใช้ในกาดนัดหรือตลาดนัด และงานลดใช้ถุงพลาสติกและโฟม ใช้ในงานต่างๆ ของชุมชน งานอาหารปลอดภัย และงานโครงการของ สสส. พร้อมประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนหรือผู้ประกอบการอาหารที่ต้องการลดต้นทุน นำวัสดุมาอัดขึ้นรูปเองเพื่อนำไปใช้ โดยได้รับความสนใจจากชุมชน และโรงเรียนผู้สูงอายุ ได้เข้ามาศึกษาและทำจาน ตอนนี้ทางเทศบาลตำบลบ้านเวียงได้ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ของเทศบาล ใช้เวลาช่วงเที่ยงและเย็นทำการผลิตจาน เพื่อใช้ในงานวิ่งมินิมาราธอนในช่วงวันที่ 22-23 ธันวาคม 2562 นี้ ก็ผลิตได้ชั่วโมงละ 30-40 ใบ

  
“เบื้องต้นทางเทศบาลตำบลบ้านเวียง จะเร่งดำเนินการผลิตเพื่อให้พอใช้ในช่วงต้นปี รณรงค์คนในชุมชนและในตลาดบ้านเวียงให้ลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติก และจะปรึกษาหาแนวทางสร้างอาชีพให้กับผู้สูงอายุ โดยจะระดมทุนเพื่อซื้อเครื่องอัดขึ้นรูป แต่หากยังระดมทุนไม่ได้ คงต้องขอความอนุเคราะห์จากทางมหาวิทยาลัยอีกครั้ง” นางกรรณิกากล่าว

ด้านนายกษมากล่าวว่า เครื่องปั๊มจานจากใบไม้และวัสดุธรรมชาติ ถือเป็นการรณรงค์การลดใช้โฟมและยังสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนชุมชนได้อย่างยั่งยืน ขณะนี้ตนพยายามขยายผลไปยังภาคเหนือที่เป็นแหล่งเกิดไฟป่า โดยมุ่งหวังว่าหากใบไม้และวัสดุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว พวกเขาจะหันมาอนุรักษ์เพื่อไม่ให้เกิดไฟป่าได้ในที่สุด ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องไฟป่าที่ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่การตั้งรับเพื่อแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ

   

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image