นักวิชาการทั่วโลก..ร่วมแชร์ ‘ทิศทางพัฒนาการศึกษา-เด็กไทย’

หมายเหตุ…ในการจัดงาน Thailand’s Education Leader Symposium 2019 โครงการสัมนาสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ที่รวบรวมนักวิชาการ นักการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนจากทั่วโลก มาร่วมแลกเปลี่ยนโลกทัศน์การศึกษาไทยสู่มาตรฐานสากล จัดโดย บริษัทอักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ทาง “มติชน” เห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจ จึงนำเสนอ

๐ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
“ถึงเวลาที่ไทยจะต้องปลดล็อกการศึกษาของประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังของคนไทย ขณะเดียวกันนั้น ศธ.จะต่อยอดในสิ่งที่มี และเอาปัญหาวาง เพื่อร่วมกันแก้ไข แต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยเหลือกัน รัฐพร้อมปลดล็อกในหลายๆ เรื่อง ที่จะทำให้ผู้บริหารมีความคล่องตัวในการบริหารงาน เพื่อที่จะให้สถานศึกษามีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ศธ.พร้อมจะยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ ตราบใดที่พวกเราร่วมมือกัน มองไปในทิศทางเดียวกัน ให้ผลประโยชน์กลับมาอยู่ที่ตัวเด็ก และเยาวชนของประเทศอย่างแท้จริง

การเรียนการสอนต้องเปลี่ยนแปลง แต่การสอนแบบท่องจำยังคงต้องมีอยู่ แต่ท่องจำอย่างเดียวไม่พอ นักเรียนต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วย นั่นคือเรื่องใหญ่ และสำคัญกว่าการท่องจำ วิธีการประเมินต้องเปลี่ยนไปด้วย ต้องมีการประเมินที่เป็นระบบ และสม่ำเสมอ อะไรที่เป็นการประเมินที่ใช้วิจารณญาณ ต้องลดน้อยลงด้วย”

Advertisement

๐ดร.อกิล อี รอส
ผู้อำนวยการ Chapin High School รัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา
“เป้าหมายของการศึกษาคือการเติมพลัง เติมความรู้ให้กับเด็ก ให้เด็กได้มีพลังอย่างที่ต้องการ ผมเกิด และเติบโตในวอชิงตัน ดี.ซี.ในสภาพแวดล้อมที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูง แต่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคนั้นได้ จากประสบการณ์ในวัยเด็ก ทำให้เข้าใจ และมองเห็นพลังด้านดีที่ซ่อนอยู่ในตัวของเด็กทุกคน และพลังด้านดีนั้น พร้อมที่จะแสดงออกอยู่เสมอ ขอเพียงเด็กได้รับการสนับสนุน อยากให้ครูมีแรงบันดาลใจในการสอน กล้าที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด ทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อปลดล็อกศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ในการศึกษา ครูจะต้องเชื่อมั่นในพลัง และศักยภาพที่มีอยู่ของนักเรียน และจะต้องดึงพลังของนักเรียนมา เพื่อสร้างประสบการณ์ให้นักเรียนใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของตนเองมากขึ้น ผมเชื่อว่านักเรียนทุกคนมีศักยภาพลับในตัวเอง งาน และเป้าหมายหลักของครูคือ จะต้องทำให้ศักยภาพนั้นปลดล็อกออกมา นี่คือพลังของนักการศึกษาที่ดี และถือเป็นภารกิจแรกของครูที่จะปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่ของนักเรียนทุกคน แล้วเราจะปลดล็อกอย่างไร คำตอบคือ การใช้หัวใจ ทักษะ และเครื่องมือที่มีอยู่พัฒนานักเรียน”

Advertisement

๐จุน อุ สะคะ
ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาการศึกษานานาชาติ เบเนเซ่ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น
“หัวใจสำคัญของระบบประเมินการศึกษาที่มีคุณภาพนั้น ไม่ได้อยู่ที่ผลคะแนนของนักเรียน แต่อยู่ที่การประเมินนั้น สามารถตอบคำถามได้หรือไม่ว่า ผู้ที่ถูกประเมิน รู้ และไม่รู้อะไรบ้าง ความรู้ที่มีอยู่นั้น เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้ถูกประเมินแล้วหรือยัง อีกทั้ง ครู และนักเรียน สามารถนำผลการประเมินไปพัฒนาตัวเอง และเตรียมตัวสำหรับแผนจัดการเรียนการสอนได้มากน้อยแค่ไหน

การประเมินจะทำให้นักเรียนเข้าใจว่า ตัวเองเก่งตรงไหน อ่อนตรงไหน แล้วควรจะตั้งใจพัฒนาจุดไหนเพื่อให้ตัวเองเก่งขึ้น เช่นเดียวกับครู ถ้าครูเข้าใจ จะพัฒนานักเรียนได้ตรงจุด เพราะผู้เรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิธีการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นเรื่องเฉพาะตัว การศึกษาถึงรูปแบบการเรียนรู้ และพฤติกรรมการเรียน จะส่งผลโดยตรง และสำคัญต่อการพัฒนาผู้เรียนไม่น้อยไปกว่าการประเมินในเรื่องความรู้เลย สิ่งเหล่านี้ครูจำเป็นต้องรู้ และศึกษาให้ลึกถึงรูปแบบพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละคน เนื่องจากการจะพัฒนาผู้เรียนได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นที่จะต้องตั้งเป้าหมายร่วมกันระหว่างครู และนักเรียน ให้เป็นไปในทางเดียวกัน และพร้อมที่จะปรับไปพร้อมๆ กัน”

๐นิรมล วิบูลมงคล
ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 1 วัดพระงาม
“ในอดีตโรงเรียนเผชิญปัญหาครูไม่ค่อยมีเทคนิคการสอน สอนแบบเดิม คิดว่าตนเองได้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญแล้ว แต่ในความจริง ครูยังคงเป็นคนสั่งนักเรียนอยู่ และเด็กจะได้ความรู้ตามที่ครูสอน มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมน้อย มีเฉพาะใบงานให้เด็กทำ เพราะครูไม่มีเวลาผลิตสื่อ เมื่อทางโรงเรียนได้ช่วยให้ครูปลดล็อกศักยภาพของนักเรียนตามแนว Active Learning ผ่านกระบวนการเรียนรู้ จะทำให้ครูบูรณาการสอนได้หลากหลาย ทั้งนี้ สื่อการสอนที่โรงเรียนผลิต จะเน้นการเรียนแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการในการต่อยอดความรู้ไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมกับจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กได้ทำงานร่วมกันเป็นทีม รู้จักใช้การสื่อสาร เพื่อบอกความต้องการของตนเอง และเพื่อน รวมทั้ง พาเด็กให้รู้จักการคิดวิเคราะห์ด้วย

พัฒนาการของนักเรียนหลังจากได้รับการเรียนการสอนรูปแบบใหม่นั้น เด็กเรียนรู้นิ่งขึ้น ทำงานเป็นทีม ยอมรับบทบาทการเป็นผู้นำ และผู้ตาม ยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน เด็กทุกคนมีบทบาทในกลุ่ม มีความมั่นใจในตนเอง กล้าแสดงออก และมีจิตอาสาโดยที่ไม่รู้ตัว ผู้ปกครองเองเห็นผลด้านพัฒนาการของเด็ก คือพัฒนาการด้านการอ่านที่ดีขึ้น เพราะเพียง 1 ปี หลังจากเปลี่ยนการเรียนการสอน โดยผลคะแนนการประเมินความสามารถในการอ่าน ในปี 2561 พบว่าเด็กมีผลคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าปีก่อนถึง 90% และทำให้โรงเรียนมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น”

๐แพท ยงค์ประดิษฐ์
ประธานเจ้าหน้าที่วิชาการ Code.org สหรัฐอเมริกา
“ผมเชื่อว่าวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เปลี่ยนแปลงโลกได้ และการเรียนโค้ดดิ้ง จะทำให้เด็กมีพื้นฐานสำคัญ พร้อมที่จะก้าวสู่โลกยุคใหม่ เพราะปัจจุบันวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ได้เปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนโฉมการทำงานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขนส่ง การดูแลสุขภาพ ปัญญาประดิษฐ์ การเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งนี้ ทุกคนสามารถเรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้

ผมเชื่อว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะเป็นประเทศที่เจริญ แต่มีข่าวร้ายก็คือ จากการจัดอันดับในระดับนานาชาติ พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 62 จาก 141 ประเทศ ในการใช้เทคโนโลยี อยู่ในอันดับที่ 66 จาก 141 ประเทศ ที่มีทักษะทางดิจิทัล อยู่ในอันดับที่ 86 จาก 141 ประเทศ ที่บัณฑิตจบมาพร้อมทำงานทันที และอันดับที่ 89 จาก 141 ประเทศ ที่มีการสอนการคิดเชิงวิพากษ์ แต่ข่าวดีคือขณะนี้ทางรัฐบาลไทย เริ่มต้นนโยบายการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยเฉพาะนโยบายโค้ดดิ้ง ของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ผมเชื่อว่าประเทศไทยมาถูกทางแล้ว และมั่นใจว่าประเทศไทยจะพัฒนาสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ได้แน่นอน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image