ตามไปดู…มรภ.สงขลา ดำนา อนุรักษ์ข้าวพื้นเมือง ต.เกาะแต้ว

ตามไปดู…มรภ.สงขลา ดำนา อนุรักษ์ข้าวพื้นเมือง ต.เกาะแต้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สงขลา นำนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกิจกรรมดำนา รักษาวิถีไทย เรียนรู้ประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน โดย ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา เล่าว่า ได้นำคณาจารย์พร้อมด้วยนักศึกษาชั้นปี 3-4 สาขาเทคโนโลยีการเกษตร แขนงวิชาการผลิตพืช เข้าร่วมโครงการสร้างสรรค์คุณค่าและมูลค่าทางการเกษตร กิจกรรมอนุรักษ์และส่งเสริมการผลิตข้าวพื้นเมืองวิถีพอเพียง ประจำปี 2562 ตามคำเชิญของเทศบาลตำบลเกาะแต้ว

ทั้งนี้ ในการส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้ความรู้ตามหลักวิชาการ และหันมาสนใจทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ตลอดจนฟื้นฟูประเพณีลงแขกปลูกข้าว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นให้กลับคืนสู่ชุมชน โดยทางคณะได้นำเชื้อจุลินทรีย์บลาซิลลัสชนิด Bacillus megaterium สำหรับจุ่มแช่ราก ช่วยเร่งรากให้ต้นกล้าเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น ไปใช้กับต้นกล้าข้าวที่ร่วมกันปลูกในครั้งนี้ด้วย

ด้าน ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ เล่าว่า พื้นที่นา ต.เกาะแต้ว เป็นพื้นที่มีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีความหลากหลายพันธุ์ ได้แก่ เล็บนก หอมกระดังงา หอมจันทร์ ดอกพะยอม รวงรี ลูกปลา ดำเบา จำปา เป็นต้น ซึ่งการปลูกข้าวพื้นเมืองเฉพาะถิ่นและการอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นเมืองในแหล่งที่ปลูกเพื่อช่วยไม่ให้พันธุกรรมข้าวสูญหายไปจากธรรมชาติ นับเป็นกิจกรรมที่จำเป็นต้องส่งเสริมสนับสนุน

กิจกรรมนี้จึงน่าสนใจและมีประโยชน์อย่างมาก เพราะแปลงนานี้จะเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้ นอกจากนั้น กิจกรรมนี้ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน และได้ฝึกประสบการณ์ตรงตามศาสตร์สาขาวิชา โดยมีชุมชนเป็นฐานการนำความรู้สู่การปฏิบัติเชิงพื้นที่

Advertisement

ขณะที่ อาจารย์สุเพ็ญ ด้วงทอง สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร บอกว่า รู้สึกประทับใจมากที่ทางคณะจัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรักความสามัคคีของคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรภายในคณะ รวมทั้งได้ไปให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวอินทรีย์แก่เกษตรกรในเขตพื้นที่บริการวิชาการ โครงการนี้มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาที่ศึกษาวิชาชีพด้านการเกษตร ได้เล็งเห็นถึงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาเกษตรและการอนุรักษ์พันธุ์ข้าว ถือเป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จ

ด้าน นายบุญฤทธิ์ ภาระกิจโกศล กล่าวว่า มีความสุขมากที่ได้ร่วมกิจกรรมนี้ แม้แดดจะร้อน แต่ก็สนุก ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีในชีวิต เพราะนักศึกษาสมัยนี้รู้จักการดำนาน้อยมาก กิจกรรมนี้ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับวิธีการดำนา และได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของข้าว กว่าจะได้ข้าวหนึ่งเมล็ดต้องลำบากเพียงใด การทำนาจะสอนให้นักศึกษารู้จักคุณค่าของข้าว และรักษาวัฒนธรรมไทย ทั้งยังช่วยเพิ่มความสามัคคีในหมู่คณะ ซึ่งตนเคยดำนาในช่วงวัยเด็ก โดยได้รับการสอนจากคุณย่า

Advertisement

น.ส.เพียงตะวัน สังขาเสน นักศึกษา กล่าวว่า ดีใจมากที่ได้ลงพื้นที่ไปช่วยชาวบ้านดำนา ก่อนหน้านี้ไม่เคยดำนาแบบจริงจังมาก่อน เมื่อได้มาทำจึงเข้าใจว่าเหนื่อยมากๆ กว่าจะได้ข้าวมา ซึ่งในการลงแขกดำนาสิ่งสำคัญมากที่สุดคือเพื่อนๆ ที่ร่วมด้วยช่วยกัน หลายคนสนุกกว่า การทำนาดำสะท้อนให้เห็นถึงความมีน้ำใจของคนในพื้นที่ที่มาช่วยกันทำนา

อย่างน้อยการดำนายังคงดำรงอยู่ให้เด็กสมัยใหม่ได้เรียนรู้วิถีโบราณที่อาจหายไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาแทนที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image