สพฐ.ปรับเกณฑ์เปิดห้องเรียนภาษาอังกฤษ ตั้งเป้าจบม.6 พูดคล่อง เกรดมาตรฐานบี2

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นายอำนาจ  วิชยานุวัติ  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือ แนวทางการเพิ่มห้องเรียนพิเศษ ซึ่งจะเน้นไปที่ห้องเรียนภาษาอังกฤษ โดยได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสถาบันภาษาอังกฤษ ปรับหลักเกณฑ์ และจัดทำประกาศกระทรวงศึกษา การพัฒนาภาษาอังกฤษทั้งระบบ ให้โรงเรียนมีความคล่องตัวในการเปิดห้องเรียนภาษาอังกฤษให้มากขึ้น คาดว่า จะสามารถจัดทำหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วเสร็จได้ภายในเดือนธันวาคมนี้  เพื่อประกาศให้โรงเรียนสามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ทันภายในปีการศึกษา 2563 ทั้งนี้จะไม่กระทบกับ ประกาศการรับนักเรียน สังกัดสพฐ. ปีการศึกษา 2563 ซึ่งประกาศไปแล้ว   โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เพราะโรงเรียนที่จะเปิดห้องเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มส่วนใหญ่ไม่ใช่โรงเรียนแข่งขันสูง เป็นโรงเรียนปกติทั่วไป เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เป็นไปตามเป้าหมาย  ให้นักเรียนที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6  มีผลการเรียนวิชาภาษาอังกฤษได้มาตรฐาน CEFR ระดับB2

นายอำนาจกล่าวต่อว่า  ทั้งนี้ที่ประชุมยังมีข้อสังเกตแม้ว่า นักเรียนจะเรียนวิชาภาษาอังกฤษผ่านมาตรฐาน CEFR ระดับB2 แต่การสื่อสาร การพูดภาษาอังกฤษยังไม่ดีพอ ดังนั้นจึงกำหนดว่า แม้จะได้ผลสอบระดับB2 แต่ต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษกับชาวต่างประเทศได้ด้วย   ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนักเรียนเท่านั้น รวมถึงครูผู้สอนที่ต้องมีทักษะความสามารถได้มาตรฐานที่วางไว้ด้วย ซึงจะต้องมีทั้งครูชาวไทย และครูต่างชาติ ส่วนปัญหาครูต่างชาติไม่เพียงพอนั้น  ส่วนหนึ่งให้โรงเรียนเป็นผู้จัดหา อีกแนวทางหนึ่งอาจหารือกับทางสถานทูต ประเทศต่างๆ ให้ส่งครูต่างชาติ อย่างเช่น ครูจากประเทศฟิลิปปินส์ เข้ามาช่วยสอน  ซึ่งก็ได้มีการหารือเบื้องต้นไว้แล้ว

นายอำนาจ กล่าวต่อว่า  นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือ กรณีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ ซึ่งคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะมีการหารือ เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางการจัดทำหลักสูตรใหม่ ในวันที่ 6-8 ธันวาคมนี้ สำหรับกรอบการจัดทำหลักสูตรฯ จะดูข้อดี ข้อเสีย ทั้งการจัดทำหลักสูตรแบบกลุ่มสาระวิชา  หรือการจัดทำหลักสูตรที่ไม่เน้นตามกลุ่มสาระแต่เน้นสมรรถนะทางการเรียนรู้ของเด็กเป็นสำคัญ โดยการปรับหลักสูตรครั้งนี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญอย่างมาก ขณะที่ทางสพฐ.เองได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ ร่วมกับกพฐ. ด้วย ส่วนการนำหลักสูตรไปใช้นั้นจะ เริ่มต้นจากโรงเรียนที่มีความพร้อม สมัครใจนำไปใช้บางวิชา  หรือบางโรงเรียนใช้ทุกวิชา ทุกชั้น และใช้เต็มรูปแบบในปีการศึกษา 2565

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image