ผลประเมิน PISA 2018 พบคะแนนเด็กไทยการอ่านลดอย่างต่อเนื่อง คณิต-วิทย์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ผลประเมิน PISA 2018 พบคะแนนเด็กไทยการอ่านลดอย่างต่อเนื่อง คณิต-วิทย์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการเป็นประธานแถลงข่าวเปิดเผยผลการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA 2018 ว่า สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เข้าร่วมกับ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ตามโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA เพื่อเป็นการประเมินคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ที่จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพสำหรับการแข่งขันในอนาคต ผลการประเมิน PISA สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ในด้านการอ่านซึ่งเป็นด้านที่เน้นในการประเมินรอบนี้ ได้แก่ ประเทศจีนนี่มณฑล สิงค์โปร์ มาเก๊า ฮ่องกง และเอสโตเนีย

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย สสวท.จัดการสอบ เมื่อเดือนสิงหาคม พศ. 2561 ที่ผ่านมา มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8,633 คน จาก 290 โรงเรียนในทุกสังกัดการศึกษาเข้าร่วมการประเมินในรอบนี้ พบว่านักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 393 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน) คณิตศาสตร์ 419 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) และวิทยาศาสตร์ 426 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ PISA 2015 พบว่า ด้านการอ่านมีคะแนนลดลง 16 คะแนน ส่วนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีคะแนนเพิ่มขึ้น 3 คะแนน และ 4 คะแนน ตามลำดับ ซึ่งในการทดสอบทางสถิติถือว่าคณิดศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับรอบการประเมินที่ผ่านมา

“เชื่อว่า PIAS เป็นโปรแกรมที่มั่นใจว่า ศธ.สามารถเอาข้อมูลมาพัฒนานักเรียนได้อย่างจริงจัง และมั่นใจว่าแนวทางที่ ศธ.กำลังพัฒนา จะสามารถขับเคลื่อน พัฒนานักเรียนให้พร้อมกับการสอบ PISA ในปี 2564 ที่จะถึงนี้ ได้แน่นอน” นายณัฐพล กล่าว

ด้านนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ประธานคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนนตั้งแต่การประเมินรอบแรกจนถึงปัจจุบัน พบว่าผลการประเมินด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ผลการประมินด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย กลุ่มโรงเรียนน้นวิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ/เศรษฐกิจ ที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่นๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ทั้งนี้ คะแนนด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนทุกกลุ่มโรงเรียนมีคะแนนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผล PISA 2015 ที่ผ่านมา

Advertisement

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ OECD แบ่งระดับความสามารถของนักเรียนในแต่ละด้านเป็น 6 ระดับ โดยระดับ 2 ถือเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนสามารถใช้ทักษะและความรู้ในชีวิตจริงพบว่า ในด้านการอ่านค่าเฉลี่ย OECD มีนักเรียน 77% ที่มีความสามารถด้านการอ่านตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป สำหรับประเทศไทย มีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป ประมาณ 40% ส่วนในด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นักเรียนไทยที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป มีประมาณ 47% และ 56% ตามลำดับ (ค่าเฉลี่ย 0ECD คณิตศาสตร์ 76%% และวิทยศาสตร์ 78%) ทั้งนี้ในสองด้านนี้มีสัดส่วนของนักเรียนไทยที่มีความสามารถระดับสูงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ PISA 2015 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความแตกต่างระหว่างเพศ พบว่า นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชายในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการอ่านที่นักเรียนมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชาย 39 คะแนน นอกจากนี้ จะพบว่าโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ถือเป็นเรื่องน่าชื่มชมอย่างมาก

นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า จากการประเมินที่ผ่านมา มีข้อสังเกตสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก ผลการประเมินชี้ว่าระบบการศึกษาไทยมีส่วนหนึ่งที่มีคุณภาพและสามารถพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถในระดับสูงได้ ประการที่สอง นักเรียนไทยทั้งกลุ่มที่มีคะแนนสูงและกลุ่มที่มีคะแนนต่ำมีจุดอ่อนอยู่ที่ก้านการอ่าน ซึ่งใน PISA 2018 เป็นการประเมินการอ่านเนื้อหาสาระที่มาจากทั้งแหล่งข้อมูลเดียวและหลายแหล่งข้อมูล อีกทั้งสื่อที่นักเรียนได้อ่านส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลซึ่งสะท้อนถึงธรรมชาติของการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของโลก และสอดคล้องกับการใช้ข้อมูลในชีวิตจริงของผู้คนทั่วโลก ดังนั้น ระบบการศึกษาไทยจึงควรส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปในการเรียนการสอน เพื่อสร้างความคุ้นเคยและยกระดับความสามารถด้านการสอบของนักเรียนในยุคดิจิทัลต่อไป และประการที่สาม แนวโน้มคะแนนการอ่านของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง และความฉลาดรู้ด้านการอ่าน มีความสัมพันธ์กับความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระบบการศึกษาไทยจึงต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วน

นายณัฏฐพล เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวผลการประเมิน PISA ว่า ตนภูมิใจที่นักเรียนรักษาระดับได้ และคะแนนในส่วนของคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ขยับเพิ่มขึ้นมา แสดงให้เห็นว่าในการทำงานของ ศธ.ที่ได้เน้นในเรื่องคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์นั้นประสบความสำเร็จ และต้องรักษาระดับนั้นต่อไป ส่วนประเด็นที่การอ่านจะต้องปรับปรุง นั้นภาพรวมการอ่านของทุกประเทศตกทั้งหมด แต่ประเทศไทยอาจจะตกไปมาก ทั้งนี้ ศธ.กำลังพัฒนาด้านๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการอ่าน วิเคราะห์ให้มากขึ้น ไม่ใช่ส่งเสริมเพื่อเป็นทักษะในการสอบเท่านั้น แต่เป็นทักษะในชีวิตจริงที่นักเรียนจำเป็นต้องมี และในผลการสอบ PISA ปีนี้ จะไม่มีการจัดอันดับ เพราะผลการสอบของแต่ละประเทศนั้นไม่เท่ากัน จึงยากในการจัดอันดับ อีกทั้งอยากให้ประเทศนำคะแนนของตนเพื่อนำมาปรับปรุง มากกว่าไปแข่งกับประเทศอื่น

Advertisement

“ขณะเดียวกัน การส่งเสริมให้ทั่วประเทศมีคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นแนวทางที่ ศธ.จำเป็นต้องทำ เพราะการสอบ PISA นั้นเป็นการสุ่มสอบนักเรียนทั่วประเทศ ฉะนั้นวิธีที่จะป้องกันปัญหาได้ดีที่สุดคือทำให้นักเรียนทั่วประเทศมีความสามารถใกล้เคียง ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อที่มั่นใจว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า นักเรียนจะทำคะแนนได้ดีในทุกภาคส่วนแน่นอน”นายณัฏฐพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image