ทปสท.ชงร่าง กม.พนักงานมหาลัย จี้เพิ่มสัญญาจ้างระยะยาวถึง 60 ปี

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นายเชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบุคลากรในมหาวิทยาลัยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ มี 20,000 คน และกลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัย มี 150,000 คน และเพิ่มขึ้นทุกปี โดยที่การบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการ ใช้กฎหมายกลางจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ขณะที่พนักงานมหาวิทยาลัยถูกกำหนดให้แต่ละมหาวิทยาลัยออกกฎระเบียบการทำสัญญาว่าจ้างเอง ส่วนใหญ่เริ่มต้นทำสัญญา 1 ปี เมื่อผ่านการประเมินจะต่อสัญญาทุกๆ 3 ปี พบว่า เมื่อฝ่ายบริหารไม่พอใจก็เลิกต่อสัญญา หรือถ้าพบเห็นความไม่ถูกต้องของฝ่ายบริหาร และลุกขึ้นต่อสู้ หรือเปิดเผยต่อสาธารณะ จะถูกยกเลิกสัญญา ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยไม่ค่อยกล้าต่อสู้เพื่อความยุติธรรม นอกจากนี้ ยังพบว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ กำหนดมาตรฐานการบริหารจัดการ ดูแลให้สวัสดิการพนักงานมหาวิทยาลัยแตกต่างกัน โดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัยได้เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการสายผู้สอน 1.7 เท่า และสายสนับสนุน 1.5 เท่า เพราะไม่มีสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล และพบว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งหักเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย โดยอ้างว่านำไปจัดเป็นกองทุนสวัสดิการ แต่พบความไม่เป็นธรรม เช่น บางแห่งหักเงินเดือนเดือนละ 5,000 บาท รวมทั้งปี 60,000 บาท แต่เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ปีละ 25,000 บาทเท่านั้น

“จากปัญหาดังกล่าว ในฐานะประธาน ทปสท.ได้ยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. … เพื่อให้การบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน โดยหวังแก้ไขสัญญาการจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยเสนอให้ทุกแห่ง เริ่มต้นสัญญาจ้างครั้งแรก 1 ปี จากนั้นเป็นสัญญาระยะยาวจนกว่าจะถึงอายุ 60 ปี ซึ่งขณะนี้มีมหาวิทยาลัยบางแห่งทำในลักษณะนี้ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุดรธานี มรภ.ธนบุรี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นต้น ในระหว่างทางอาจมีสัญญาย่อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น ทุกๆ 7 ปี หรือทุกๆ 10 ปี เพื่อให้บุคลากรทำผลงานทางวิชาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จะได้ไม่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม” นายเชษฐา กล่าว

นายเชษฐากล่าวอีกว่า ตนจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ในที่ประชุม ทปสท.ที่ มรภ.อุบลราชธานี วันที่ 13-14 ธันวาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็น จากนั้นเตรียมเสนอต่อกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ ศึกษาร่าง พ.ร.บ.ทั้งจะให้ตัวแทน ทปสท.ในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน เพื่อให้ ก.พ.อ.ตั้งคณะอนุ ก.พ.อ.ศึกษาร่างกฎหมายนี้คู่ขนานไปพร้อมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image